Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการศึกษากลไกความร่วมมือทางพลังงานของอาเซียน เพื่อจัดการกับปัญหาความขาดแคลนทางพลังงาน เพื่อไปสู่ความมั่นคงทางพลังงานของภูมิภาคอาเซียน การวิเคราะห์บทบาทตัวแสดงที่สำคัญที่มีส่วนต่อการพึ่งพาอาศัยอันนำไปสู่ความมั่นคงทางพลังงานของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินนโยบายที่มีส่วนสำคัญต่อความมั่นคงทางพลังงาน
ผลวิจัยพบว่าอาเซียนจำเป็นต้องขยายความร่วมมือทางพลังงาน เพื่อจัดการกับปัญหาความขาดแคลนทางพลังงาน และมุ่งไปสู่ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งมีลักษณะการพึ่งพาอาศัยกันอย่างสลับซับซ้อน (Complex Interdependence) มากยิ่งขึ้นโดยมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ ประการแรก มีช่องทางการปฏิสัมพันธ์และตัวแสดงที่หลากหลายในความร่วมมือ ทั้งบทบาทของรัฐ เอกชน และปัจเจกบุคคล ประการที่สอง ความมั่นคงประกอบไปด้วยประเด็นที่หลากหลายรอบด้านมากกว่าทางการทหาร และความมั่นคงทางพลังงานก็เป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน และประการที่สาม การพึ่งพาอาศัยอย่างสลับซับซ้อน ทำให้มีรัฐเข้าสู่ข้อขัดแย้งที่อาจเกิดการใช้กำลังน้อยลง ส่งเสริมการเกิดสันติภาพขึ้นในภูมิภาคผ่านการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ก็ยังมีอุปสรรคที่อาเซียนยังต้องร่วมกันแก้ปัญหา และปรับตัวให้ทันกับประเด็นความท้าทายต่อความมั่นคงทางพลังงานในยุคปัจจุบัน