Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งตอบคำถามเกี่ยวกับสาเหตุที่การนำนโยบายป้องกันและปราบปรามการละเมิดเครื่องหมายการค้าไปปฏิบัติของภาครัฐไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2566 จึงยังไม่สามารถบรรลุผลได้ รวมถึงเพื่อนำผลการศึกษาที่ได้มาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้การนำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิเคราะห์เชื่อมโยงกับปัจจัยในการนำนโยบายไปปฏิบัติตามทฤษฎีของ Van Meter และ Van Horn เพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดำเนินนโยบายดังกล่าว งานวิจัยชิ้นนี้อาศัยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเน้นเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินนโยบาย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบาย รวมถึงการศึกษาวิเคราะห์จากเอกสารทุติยภูมิ ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า สาเหตุที่การนำนโยบายป้องกันและปราบปรามการละเมิดเครื่องหมายการค้าไปปฏิบัติของภาครัฐไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2566 จึงยังไม่สามารถบรรลุผลได้ มีอยู่ 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) สภาพตลาดสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าในปัจจุบัน เช่น รูปแบบการจำหน่ายสินค้าละเมิดถูกนำมาจำหน่ายในช่องทางออนไลน์มากขึ้นทำให้การบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามยากต่อควบคุม 2) ปัญหาจากกระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติของภาครัฐ เช่น งบประมาณและบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ความไม่คล่องตัวของระบบราชการไทย 3) อิทธิพลของการเมืองในประเทศและระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา เช่น ระดับการให้ความสำคัญในการปราบปรามของตัวแสดงทางการเมืองภายในประเทศแต่ละช่วงเวลาที่ไม่เท่ากันส่งผลให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย รวมถึงการเมืองระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ที่มีผลโยชน์ทางการค้าระหว่างกันเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐควรมุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายในการปิดกั้นช่องทางการจำหน่ายสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าในช่องทางออนไลน์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงจัดสรรงบประมาณและจำนวนบุคลากรให้มีความเหมาะสม ปรับปรุงระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติงานให้มีความคล่องตัวและเหมาะสมกับรูปแบบการละเมิดในปัจจุบัน สร้างระบบทรัพย์สินทางปัญญาไทยให้เป็นมาตรฐานสากล รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ประกอบการไทยให้เห็นถึงความสำคัญของการปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า