Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กรของผู้ปฏิบัติงานฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ในรูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณ(Quantitative Research) โดยการสำรวจความคิดเห็นและใช้การเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 231 คน ที่มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบโควตา (Quota Sampling) จากผู้ปฏิบัติงานฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แล้วจึงดำเนินการสุ่มตัวอย่างตามความสะดวก (Convenient sampling) ให้ครบตามจำนวนที่กำหนด จากนั้นนำมาประมวลผลผ่านโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ SPSS และใช้การวิเคราะห์สถิติเชิงพรรณนาด้วยวิธีแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน อีกทั้งในกรณีวิเคราะห์สถิติเชิงอนุมาน ได้เลือกใช้เทคนิคการทดสอบด้วยวิธีการถดถอยแบบพหุคูณ (Multiple Regression) เพื่อวิเคราะห์หาปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับความผูกพันต่อองค์กร
ผลการศึกษาพบว่า ในแง่ภูมิหลัง ปัจจัยส่วนบุคคลด้านอายุ และด้านระยะเวลาการทำงานส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือระยะเวลาและประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นตามอายุมีส่วนเหนี่ยวนำให้เกิดความผูกพันต่อองค์กรอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยคุณภาพชีวิตในการทำงานของผู้ตอบแบบสอบถามในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยรายด้านอยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน อีกทั้งเมื่อนำไปใช้พยากรณ์ระดับความผูกพันต่อองค์กร ก็พบว่าปัจจัยคุณภาพชีวิตในการทำงานทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านชีวิตและการทำงานที่มีความสมดุลกันโดยส่วนรวม (2) ด้านลักษณะงานที่ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตและมั่นคงในงาน และ (3) ด้านการได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเพียงพอ ต่างส่งผลต่อระดับความผูกพันต่อองค์กรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นปัจจัยทั้ง 3 ด้านนี้จึงเป็นสิ่งที่องค์กรต้องหันมาให้ความสำคัญ เพื่อเป็นรักษาไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติงานของตนให้เกิดความผูกพันและคงอยู่กับองค์กรอย่างยั่งยืน