Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระดับสมรรถนะและสมรรถนะที่คาดหวังต่อการเป็นระบบราชการ 4.0 ของข้าราชการสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในปัจจุบัน รวมถึงศึกษาแนวทางการพัฒนาสมรรถนะของข้าราชการสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้สอดรับกับการพัฒนาไปสู่ระบบราชการ 4.0 ในการศึกษาในครั้งนี้ผู้วิจัยเลือกใช้การวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method Research) โดยกำหนดให้การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เป็นการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารทรัพยากรบุคคล และผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ในขณะที่การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงานจริงในสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจำนวน 156 คน ด้วยแบบสอบถามออนไลน์และนำมาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ SPSS โดยใช้สถิติการแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย และการทดสอบค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์
ผลการศึกษาพบว่าการพัฒนาระดับสมรรถนะของข้าราชการสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในปัจจุบันอยู่ในระดับมากที่สุด และระดับความคาดหวังต่อการเป็นระบบราชการ 4.0 อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระดับสมรรถนะของข้าราชการสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในปัจจุบัน และระดับความคาดหวังต่อการเป็นระบบราชการ 4.0 พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ ระดับการศึกษา Generation ระดับตำแหน่ง และระยะเวลาการปฏิบัติงาน ต่างมีความสัมพันธ์กับระดับสมรรถนะของข้าราชการสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่าปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ ระดับการศึกษา และ Generation มีความสัมพันธ์กับสมรรถนะที่คาดหวังต่อการเป็นระบบราชการ 4.0 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (ปัจจัยภายในตัวบุคคล และปัจจัยภายในองค์การ) กับระดับสมรรถนะของข้าราชการสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทั้ง 6 ด้าน พบว่า ปัจจัยภายในตัวบุคคลด้านความตั้งใจในการพัฒนาความรู้ ทักษะ ทัศนคติมีความสัมพันธ์เป็นอันดับ 1 นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับระดับสมรรถนะที่คาดหวังต่อการเป็นระบบราชการ 4.0 ทั้ง 3 ด้าน พบว่า ปัจจัยภายในองค์กรด้านสภาพแวดล้อมการทำงาน และด้านนโยบายขององค์กร ปัจจัยภายในตัวบุคคลด้านความสำเร็จของงานมีความสัมพันธ์เป็นอันดับ 1 ซึ่งการพัฒนาสมรรถนะของข้าราชการเพื่อการเป็นระบบราชการ 4.0 ยังคงพบอุปสรรคในเรื่องการนำระบบ Competency มาใช้ให้เกิดประโยชน์ การจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ การทำให้หัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชาเปิดกว้างเรื่องการสับเปลี่ยนหมุนเวียนงาน ทั้งนี้ ยังมีสมรรถนะที่ควรพัฒนาเพื่อให้สอดรับกับการเป็นระบบราชการ 4.0 ได้แก่ การคิดเชิงระบบและการมองภาพรวมขององค์กร คิดถึงความเชื่อมโยงของกระบวนงานจากภายในไปสู่ภายนอกอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทำงานที่ทันสมัย