Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร ผู้วิจัยเลือกใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถามเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครจำนวน 400 คน ทั้งในโรงเรียนผู้สูงอายุและช่องทางออนไลน์ จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ SPSS โดยใช้สถิติการแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย และการวิเคราะห์ความแปรปรวน
ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ คิดเป็นร้อยละ 93.8 และพบว่ามีระดับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองในระดับปฏิบัติบ่อยครั้ง ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเอง ผลการวิเคราะห์พบว่าพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ สถานที่ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ความถี่ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และสื่อสังคมออนไลน์ที่นิยมใช้ มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในส่วนของภูมิหลังทางประชากร พบว่า สถานภาพ อาชีพ รายได้เฉลี่ยต่อเดือน และสิทธิในการรักษาพยาบาล มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเตรียมการด้านสาธารณสุขออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุในสังคมเมืองของประเทศไทยซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง และมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพสามารถนำความรู้ด้านการดูแลสุขภาพตนเองไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งการที่ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพตนเองโดยเรียนรู้ผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม ก็จะสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และลดภาระงานที่หนักเกินไปของระบบสาธารณสุขได้เช่นกัน