Abstract:
การศึกษาเรื่อง "ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดตราด ผ่านกระบวนการและบทบาทของศูนย์ดำรงธรรม โดยอธิบายในระดับอำเภอและจังหวัด (กรณีศึกษาจังหวัดตราด) มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ผ่านกระบวนการและบบาทของศูนย์ดำรงธรรม โดยได้นำแนวคิดการบริหารจัดารภาครัฐแนวใหม่ (NPM) แนวคิดหลัก Good Governace ทฤษฎีการนำนโยบายไปปฏิบัติ แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับความหมายและกระบวนการนโยบายสาธารณะ แนวคิดการบริหารเวลาและการประสานงาน ตลอดจนปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาในพื้นที่ผ่านกระบวนการของศูนย์ดำรงธรรม และปัจจัยที่ทำให้การนำนโยบายไปปฏิบัติแล้วประสบความสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) เป็นการเก็บข้อมูลแบบสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และการเก็บข้อมูลจากการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) ข้อมูลและ Infographic เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดและครอบคลุม โดยมุ่งพรรณนาเชิงวิเคราะห์ (Analytical Description) ที่มา ความสำคัญและสาระสำคัญของการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม และสถิติการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของศูนย์ดำรงธรรมของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตราด ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอบ่อไร่ ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเขาสมิง และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเกาะช้าง โดยมีการเปรียบเทียบสถิติประเภทเรื่องร้องเรียนที่คงค้างและไม่สามารถแก้ไขได้ และประเภทเรื่องร้องเรียนที่สามารถแก้ไขได้ในแต่ละอำเภอและภาพรวมทั้งจังหวัด และนำมาวิเคราะห์หาปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดตราดของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ และวิเคราะห์ปัจจัยความแตกต่างในเรื่องพื้นที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอ
ผลการศึกษา พบว่า ผู้วิจัยได้สรุปผลการศึกษาออกมาเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหาจากแนวคิดการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (NPM) และ แนวคิดหลัก Good governance เพื่อแสดงให้เห็นว่าปัจจัยใดที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหาผ่านบทบาทของศูนย์ดำรงธรรม เป็นไปตามแนวคิดดังกล่าวหรือไม่ 2) การนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการและบทบาทของศูนย์ดำรงธรรม ว่ามีความประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลว ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหาคือ ข้อกฎหมาย คำสั่ง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และนโยบาย, อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานและประสิทธิภาพของการบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่ และ ทักษะและประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานหรือบุคลากร 3) ประสิทธิภาพของศูนย์ดำรงธรรมในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนสรุปของการวิจัยทั้งหมดนี้เพื่อนำมาสู่การประเมิน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลนโยบายตลอดการมีอยู่ของศูนย์ดำรงธรรมมาตลอด 9 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 โดยยกกรณีศึกษาจังหวัดตราด และ อำเภอในจังหวัดตราดที่แตกต่างกันในเชิงพื้นที่ ทั้งบริบทสภาพแวดล้อม สังคม และหน่วยงานของรัฐในพื้นที่มา 3 อำเภอ คือ อำเภอบ่อไร่ อำเภอเขาสมิง และอำเภอเกาะช้าง และจากผลการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่ผู้วิจัยอภิปรายมานั้นแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในเชิงกระบวนการการทำงาน การบริหารราชการในเชิงพื้นที่ให้เกิดการบูรณาการและการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นเพียงเท่านั้น ยังไม่สามารถตอบสนองต่อประชาชนได้มากเพียงพอประกอบกับในบางเรื่องร้องเรียนที่มีความสลับซับซ้อน ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของศูนย์ดำรงธรรมก็ไม่สามารถบรรลุในผลลสัมฤทธิ์อย่างครบถ้วนเท่าที่ควร ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ผ่านกระบวนการและบทบาทของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและศูนย์ดำรงธรรมอำเภอนั้น ยังไม่สามารถบรรลุได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์