Abstract:
การศึกษาเรื่อง “ประสิทธิผลจากการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 กรณีศึกษา จังหวัดสมุทรสาคร” มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิผลที่เกิดขึ้นจากการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 โดยได้นำแนวคิดการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ทฤษฎีนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติ และแนวคิดการประเมินประสิทธิผลของนโยบายมาศึกษาเพื่อวิเคราะห์ประสิทธิผลของนโยบาย ตลอดจนปัจจัยที่ทำให้การนำนโยบายไปปฏิบัติประสบผลสำเร็จ และปัจจัยที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรค ซึ่งการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) ผ่านการเก็บข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และการเก็บข้อมูลจากการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดและครอบคลุม โดยมุ่งพรรณนาเชิงวิเคราะห์ (Analytical Description) ที่มา ความสำคัญและสาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 เปรียบเทียบกับนโยบายผู้ว่า CEO ในอดีต และผลจากการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวในบริบทของจังหวัดสมุทรสาคร
ผลการศึกษา พบว่า ผู้วิจัยได้สรุปผลการศึกษาออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) ที่มาและวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 เพื่อแสดงให้เป็นว่าเป้าหมายของการมีพระราชกฤษฎีกานั้นเพื่อให้เกิดการบริหารของภาครัฐที่มีการบูรณาการในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหา ตอบสนองความต้องการของประชาชน 2) การนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยวิเคราะห์ตัวแบบทางทฤษฎีการนำนโยบายไปปฏิบัติเพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่ส่งผลให้การดำเนินนโยบายเกิดความสำเร็จ ผ่านการวิเคราะห์หน่วยงาน “สำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร” ซึ่งเป็นองค์กรที่มีปัจจัยทั้ง 4 ครบถ้วนแต่ไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ จากปัจจัยทั้ง 4 ได้แก่ สมรรถนะขององค์การ ประสิทธิภาพในการวางแผนและการควบคุม ภาวะผู้นำและความร่วมมือ และการเมืองและการบริหารสภาพแวดล้อม และ 3) ประสิทธิผลของนโยบาย ได้สรุปผลการดำเนินนโยบายต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในเชิงกระบวนการการทำงาน การบริหารราชการในเชิงพื้นที่ให้เกิดการบูรณาการเพียงเท่านั้น ยังไม่สามารถตอบสนองต่อประชาชนได้มากเพียงพอประกอบกับ ในบางประเด็นของพระราชกฤษฎีกายังไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ จึงสรุปได้ว่า การบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 ยังไม่บรรลุประสิทธิผลอย่างสมบูรณ์