Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาวิวัฒนาการละครในตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 2) ศึกษารูปแบบการแสดงละครใน เรื่อง อิเหนา ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งผู้วิจัยศึกษาข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง สื่อวีดิทัศน์ การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ การสังเกตวิธีการแสดงละครใน โดยมีขอบเขตของการศึกษา คือ 1) ศึกษาประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับการแสดงละครในตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ 2) ศึกษาลักษณะการแสดงละครในแบบหลวงเรื่องอิเหนา ซึ่งถ่ายทอดจากอดีตจนถึงปี พ.ศ. 2559 ที่ปรากฏในการแสดงของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ผลการวิจัยพบว่า คำเรียก“ละครใน”ปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมจะเรียกชื่อต่างกันไป ทั้งคำว่า ละครในบริรักษ์จักรี, ละครหลวง, ละครผู้หญิง, ละครข้างใน แต่มีความหมายเดียวกัน คือ หมายถึงละครผู้หญิงที่ใช้นางในราชสำนักมาฝึกหัดเป็นผู้แสดงและอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ หลักฐานที่เกี่ยวกับละครในพบครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาจากบุณโณวาทคำฉันท์ โดยกล่าวถึงการแสดงละครในเรื่องอนิรุทธและอิเหนาซึ่งเป็นละครในบริรักษจักรี แปลว่าละครของพระมหากษัตริย์ เมื่อกรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่าในปี พ.ศ.2310 ส่งผลให้ละครของหลวงต้องแพร่กระจายไปที่ต่างๆ บางส่วนได้ถูกกวาดต้อนไปยังประเทศพม่าจนเกิดรูปแบบละครโยเดีย ครั้นสมัยกรุงธนบุรีละครในจะเรียกว่าละครผู้หญิงซึ่งมีทั้งของหลวงและของเจ้านครฯ โดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าตากสิน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์รูปแบบละครในมีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปหลายสิ่งที่เห็นได้ชัดคือในสมัยรัชกาลที่ 1 อันเป็นยุคฟื้นฟูบ้านเมืองรวมไปถึงงานศิลปะอย่างละครใน ได้มีการรวบรวมจัดทำ“ตำรารำ”ที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเพื่อให้เป็นสมบัติชาติ ครั้นถึงรัชกาลที่ 2 ได้มีการพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นใหม่เพื่อใช้สำหรับเล่นละครใน โดยทำการซ้อมและปรับปรุงกระบวนท่ารำให้สอดคล้องกลมกลืน ตัวละครหลวงในยุคนี้ได้เป็นครูละครให้คณะต่างๆในชั้นหลัง ส่งผลให้รูปแบบละครในยุคนี้ได้เป็นแบบอย่างละครรำในระยะต่อมา ต่อมาใน สมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการยกเลิกข้อห้ามเกี่ยวกับละครใน ทำให้ผู้มีบรรดาศักดิ์พากันมีละครตามแบบอย่างของหลวง จะเห็นได้ว่า สิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อวิวัฒนาการละครใน คือ นโยบายและรสนิยมของพระมหากษัตริย์หรือผู้นำในแต่ละยุค รวมทั้งป๎จจัยภายนอกทั้งอิทธิพลต่างชาติ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละยุคสมัย รูปแบบของละครในแบบดั้งเดิมนับเป็นรากฐานที่พัฒนาและก่อให้เกิดปริวรรตไปสู่รูปแบบการแสดงละครในยุคต่อมาอย่างละครดึกดำบรรพ์ อีกทั้งยังต่อยอดไปถึงการสร้างสรรค์งานนาฏยจารีตต่างๆดังเช่นในป๎จจุบันอีกด้วย