Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งตอบคำถามเกี่ยวกับบทบาทการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชนที่มีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ รวมถึงอธิบายความแตกต่างของการมีส่วนร่วมระหว่างผู้นำชุมชน ที่มีช่วงอายุต่างกันในการจัดการบริการสาธารณะ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research Methodology) จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้นำชุมชนในเขตเทศบาลนครนครปฐมจำนวน 10 คน จาก 10 ชุมชน การศึกษาพบว่า การมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชนสามารถแบ่งได้ 2 แบบ ได้แก่ การมีส่วนร่วมแบบเป็นทางการ หมายถึง การมีส่วนร่วมที่เป็นไปตามหน้าที่ที่กำหนดในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยคณะกรรมการชุมชนของเทศบาล พ.ศ. 2564 (2564) และการมีส่วนร่วมแบบไม่เป็นทางการ หมายถึง การมีส่วนร่วมที่ผู้นำชุมชนริเริ่มขึ้นเอง โดยไม่ได้เป็นหน้าที่ตามข้อบัญญัติ โดยในการมีส่วนร่วมแบบเป็นทางการนั้น ผู้นำชุมชนมีส่วนร่วมพัฒนาบริการสาธารณะ ตั้งแต่ร่วมตัดสินใจเสนอปัญหา ระบุสภาพปัญหาในแผนชุมชนแต่ไม่มีส่วนร่วมดำเนินการ เพราะอำนาจการอนุมัติโครงการเป็นของเทศบาล ระดับการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภานภาพของผู้นำชุมชน หากเป็นผู้นำชุมชนที่ดำรงตำแหน่งบริหารงานร่วมกับเทศบาล จะมีอำนาจต่อรองมากกว่า ผู้นำชุมชนมีวิธีการหลายรูปแบบในการกดดัน ต่อรองกับหน่วยงานเทศบาลเพื่อให้โครงการของชุมชนของตนได้รับการจัดสรรงบประมาณ ในด้านความแตกต่างของการมีส่วนร่วมระหว่างผู้นำชุมชนที่มีช่วงอายุต่างกัน ผู้วิจัยพบว่า ผู้นำชุมชนวัยผู้ใหญ่ (ช่วงอายุ 25 - 45 ปี) เป็นกลุ่มคนที่เน้นการทำงานเชิงรุกคิดเชิงออกแบบ ทดลอง ทดสอบ เพื่อแสวงหาหนทางแก้ปัญหาระยะยาว ผู้นำชุมชนวัยผู้ใหญ่ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการภายในชุมชนอย่างอิสระมองว่าหน่วยงานเทศบาลอำนวยความสะดวกให้กับชุมชน แตกต่างกับผู้นำชุมชนวัยสูงอายุ (ช่วงอายุ 45 - 76 ปี) ที่เน้นการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ การทำงานเป็นแบบเชิงรับ ให้ความสำคัญกับการทำงานตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ผู้นำชุมชนมีหน้าที่รายงานสถานการณ์ภายในชุมชนรอการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานเทศบาล เน้นการยึดโยงกับหน่วยงานเทศบาลผ่านความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน