Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเหมือนและแตกต่างของกระบวนการสร้างความเป็นกลางทางการเมืองในข้าราชการพลเรือนฝ่ายประจำระหว่างประเทศไทย
สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ดำเนินการผ่านการค้นคว้าเอกสาร ประกอบกับการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เกี่ยวข้องกับงานทรัพยากรบุคคลของประเทศไทย
และเจ้าหน้าที่ของสถานทูตสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
ผลการศึกษาพบว่า กฎหมายว่าด้วยข้าราชการพลเรือนของทั้งสามประเทศสามารถแสดงออกถึงความเข้าใจของรัฐต่อคำว่าเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งทั้งสามประเทศมีความเข้าใจนิยามความเป็นกลางทางการเมืองตรงกัน โดยสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับการอบรมและจัดทำคู่มือการปฏิบัติตนอย่างเป็นกลางทางการเมืองให้แก่ข้าราชการพลเรือนฝ่ายประจำ แต่ประเทศไทยไม่ได้มีการบังคับให้ส่วนราชการจัดอบรมและจัดทำคู่มือในประเด็นนี้
ด้านการลงโทษข้าราชการที่ปฏิบัติตนไม่เป็นกลางทางการเมือง สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาจัดให้มีเจ้าหน้าที่และหน่วยงานตรวจสอบความประพฤติข้าราชการ และมีคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งหากพบความผิดสามารถลงโทษข้าราชการได้ทันที แต่ประเทศไทยไม่มีความจริงจัง
ในเรื่องการตรวจสอบความประพฤติที่อาจไม่เป็นกลางทางการเมืองของข้าราชการ ทำให้ไม่มีการลงโทษให้เป็นแบบอย่างแก่ข้าราชการคนอื่น ๆ กฎหมายว่าด้วยความเป็นกลางและมารยาท
ทางการเมืองของประเทศไทยจึงไม่มีสภาพบังคับในทางปฏิบัติ ดังนั้น หน่วยงานกลางด้านทรัพยากรบุคคลของประเทศไทยควรจัดให้มีการตรวจสอบและไต่สวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ
การปฏิบัติตนอย่างเป็นกลางทางการเมือง เพื่อรักษาผลประโยชน์และความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ประสิทธิภาพและเสถียรภาพของรัฐบาลต่อไป