Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการบริหารจัดการการให้บริการซ่อมและพัฒนาเครื่องจักรกลเพื่อความคุ้มค่าเงินทุนหมุนเวียนค่าเครื่องจักรกลของกรมทางหลวง เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งแนวทางการพัฒนาปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการให้บริการซ่อมและพัฒนาเครื่องจักรกล และเพื่อความคุ้มค่าเงินทุนหมุนเวียนค่าเครื่องจักรกล ของส่วนพัฒนาเครื่องจักรกล สำนักเครื่องกลและสื่อสาร กรมทางหลวง โดยใช้รูปแบบการศึกษาด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ จากการสัมภาษณ์แบบเชิงลึกและการสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม โดยมีประชากรกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลางในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผู้ปฏิบัติงาน และผู้รับบริการ
ผลการศึกษาภายใต้กรอบแนวคิดลักษณะของทีมการทํางานที่มีประสิทธิภาพ 11 ด้านของ Woodcock (2018) พบว่าประสิทธิภาพการทำงานของทีมปฏิบัติงานสามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างคุ้มค่า ทันเวลาและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการ โดยปัจจัยที่องค์การสามารถนำมาปรับแนวทางการบริหารจัดการเหมาะสม ส่งเสริมให้เกิดลักษณะทีมทำงานมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน อาทิเช่น ความสมดุลในบทบาทตามหน้าที่และทักษะความสามารถที่แตกต่างกัน ในทีมปฏิบัติงานเพื่อร่วมกันทำงาน การเปิดเผยและการเผชิญโดยทีมปฏิบัติงานสามารถแสดงความรู้สึกความคิดเห็นของตนต่อการทํางานได้อย่างตรงไปตรงมา มีการเปิดเผยข้อมูลยอมรับปัญหาในการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ การบริหารจัดการที่ศึกษายังมีลักษณะการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่-NPM พบว่าส่วนพัฒนาเครื่องจักรกลมีการบริหารจัดการการให้บริการที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการด้วยระบบการวางแผนทรัพยากรในองค์กร (Enterprise Resource Planning- ERP) อย่างไรก็ตามส่วนพัฒนาเครื่องจักรกลควรพัฒนาบุคลากรเรื่องทักษะในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรกลในเชิงป้องกันและการซ่อมเมื่อชำรุดให้เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ของเครื่องจักรกลที่ทันสมัยขึ้น นำความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นผู้รับบริการมาใช้เป็นแนวทางพัฒนาการทำงานร่วมกันกับผู้บริหาร จะส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและนำมาซึ่งประโยชน์ต่อองค์การมากยิ่งขึ้น