Abstract:
พนักงานสอบสวน กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินการต่าง ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เกี่ยวกับภาษีอากรทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560, พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 และประมวลรัษฎากร ซึ่งในปัจจุบัน มีแนวโน้มจำนวนคดีและมูลค่าความเสียหายสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2563 ในปีที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ต้องงดการเดินทางเข้า-ออก ประเทศ เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ และประชาชนเกิดการว่างงาน แน่นอนว่าเป็นที่มาของการก่ออาชญากรรมทางภาษีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้แต่ละคดีจะปริมาณเอกสารและขั้นตอนการดำเนินการแต่ละคดีมีเป็นปริมาณมาก เมื่อเทียบกับกองกำกับการอื่น ๆ และสถานีตำรวจท้องที่ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งกฎหมายภาษีถือเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งมีความซับซ้อนสูง ไม่สามารถโอนสำนวนไปให้สถานีตำรวจท้องที่ดำเนินการได้ เหมือนหน่วยงานอื่น ดังนั้นผู้วิจัยจึงเลือกที่จะทำสารนิพนธ์ในหัวข้อ “การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานของพนักงานสอบสวน กรณีศึกษา กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ” เพื่อที่หาแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานของพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
การทำสารนิพนธ์ในหัวข้อดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบถึงปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการงาน และแนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานของพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งจะทำการรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีการศึกษาเอกสาร การสังเกตการณ์ และท้ายสุดจะเป็นการสัมภาษณ์ พนักงานสอบสวน และผู้บังคับบัญชาของกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จำนวน 10 คน
ผลการวิจัย พบว่า ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการงาน หลัก ๆ มาจากด้านกฎหมาย คำสั่ง และระเบียบที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานที่ล้าสมัย สร้างความยุ่งยาก และไม่สนับสนุนความก้าวหน้าของพนักงานสอบสวน ด้านปริมาณงานแต่ละคดีที่มีเป็นจำนวนมากและเวลาในการทำสำนวนการสอบสวนที่น้อย ด้านสมรรถนะของพนักงานสอบสวนที่ยังไม่เพียงพอ ด้านค่าใช้จ่ายที่มีเรื่องการเบิกค่าสำนวนการสอบสวนได้ล่าช้า ส่วนแนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการงาน พบว่า แต่ละคนมีการวางแผนในการปฏิบัติงานที่ใกล้เคียงกัน มีการพัฒนาสมรรถนะทั้งด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้านภาษาต่างประเทศ ด้านเทคโนโลยี และด้านบัญชี สุดท้ายเรื่องของการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่แพ้กัน