Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสุขและกลวิธีในการเผชิญปัญหา และปัจจัยที่เกี่ยวข้องของความสุขและกลวิธีในการเผชิญปัญหา ในบุคลากรสายสนับสนุน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ บุคลากรสายสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 256 คน วิธีการสุ่มตัวอย่างเป็นการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multiple-stage sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามเกี่ยวกับลักษณะงาน แบบสอบถามความสุขในการทำงาน และแบบสอบถามรูปแบบในการเผชิญปัญหา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS (Statistical Package for Social Science) สถิติที่ใช้ คือ จำนวน ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ไค-สแควร์ Fisher’s exact test สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน และสถิติถดถอยโลจิสติค
ผลการวิจัยพบว่า ความสุขในการทำงานในโดยรวมอยู่ในระดับสูงมาก ร้อยละ 48.0 คะแนนความสุขรายด้านอยู่ในระดับปานกลางถึงสูงมาก ปัจจัยส่วนบุคคลและด้านการปฏิบัติงานได้แก่อายุ และประสบการณ์การทำงาน พบว่ามีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขในการทำงานโดยรวม (P < 0.01) และ(P < 0.05) บุคลากรมีความเห็นว่าด้านลักษณะงานมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความสุขในการทำงาน และอยู่ในระดับสูง เรียงลำดับคือความหลากหลายของงาน ความมีเอกลักษณ์ของงาน ผลสะท้อนกลับจากงาน ความสำคัญของงานและความมีอิสระในการปฏิบัติงาน โดยมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขในการทำงานโดยรวม (P < 0.01) บุคลากรส่วนใหญ่ใช้กลวิธีในการเผชิญปัญหาในรูปแบบมุ่งจัดการกับปัญหาและรูปแบบการแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขในการทำงานโดยรวม (P < 0.05) และปัจจัยทำนายความสุขในการทำงานโดยรวมคืออายุที่เพิ่มขึ้น (OR = 1.048, 95% CI = 1.01-1.09, P < 0.05) ความมีอิสระในการปฏิบัติงานสูง (OR = 2.315, 95% CI = 1.16-4.63, P < 0.05) และผลสะท้อนกลับจากงานสูง (OR = 3.91, 95% CI = 1.80-8.52, P < 0.01)