Abstract:
จากภาวะขาดแคลนแรงงาน บริษัทค้าปลีกหลายแห่งประยุกต์ระบบขนถ่ายวัสดุแบบกึ่งอัตโนมัติในศูนย์กระจายสินค้าเช่นเดียวกับบริษัทค้าปลีกวัสดุก่อสร้างกรณีศึกษาซึ่งนำระบบหยิบสินค้าด้วยแสง หรือ พุททูไลท์ (Put-to-Light) ซึ่งเป็นระบบขนวัสดุประเภทตะกร้าและระบุจำนวนที่ต้องการหยิบสำหรับพนักงาน ระบบดังกล่าวประกอบด้วยหลายสถานีงานซึ่งใช้สายพานร่วมกัน ในแต่ละสถานีงานประกอบไปด้วยตำแหน่งวางตะกร้าซึ่งระบุร้านสาขากับประเภทสินค้า รวมถึงลูกค้าในช่องทางอีคอมเมิร์ซ การวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าจำนวนการหยิบสินค้าเฉลี่ยต่อชั่วโมงแรงงานต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 5-10% เนื่องจากนโยบายการคัดสรรสินค้าในสถานีงาน การกีดขวางของตะกร้าสินค้าซึ่งมีการใช้สายพานร่วมกัน และประสิทธิภาพการหยิบของพนักงานรายบุคคล ดังนั้นงานวิจัยชิ้นนี้จึงนำเสนอชุดนโยบายด้านการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุม จำนวนและการกำหนดสถานีงาน การจัดการลูกค้าในช่องทางอีคอมเมิร์ซและประเภทตะกร้าสินค้า ความจุของตะกร้า และ ประสิทธิภาพของพนักงาน หลังจากการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลในอดีตได้ถูกประยุกต์เข้ากับแบบจำลองสถานการณ์แบบ Monte Carlo เพื่อทดลองและเปรียบเทียบนโยบาย การทดลองพบว่าตำแหน่งของตะกร้าและการกำหนดสาขามีผลต่อจำนวนการกีดขวางและการเผาผลาญพลังงาน อย่างไรก็ตามความจุตะกร้าและประสิทธิภาพของพนักงานมีอิทธิพลเหนือปัจจัยอื่น ๆ โดยลดการกีดขวาง 39%, เวลาดำเนินงาน 16%, และการเผาผลาญพลังงาน 9% ข้อสรุปดังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรในระบบพุททูไลท์