Abstract:
ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ส่งผลให้สถาบันการศึกษาหลายประเทศทั่วโลกตัดสินใจปิดตัวลงและเปลี่ยนรูปแบบการเรียนจากการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบกายภาพไปเป็นการเรียนในรูปแบบออนไลน์ โดยอาศัยเทคโนโลยีการเรียนรู้แบบประสานเวลาเป็นสื่อกลาง แต่อย่างไรก็ตามมีการศึกษาประสิทธิผลของการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบกายภาพเทียบกับการเรียนแบบออนไลน์ซึ่งพบว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบกายภาพเป็นที่ต้องการและพบว่ามีประสิทธิผลดีกว่าการเรียนรู้ออนไลน์ส่วนใหญ่ รวมถึงการศึกษาธรรมชาติของผู้เรียนพบว่าผู้เรียนต้องเรียนรู้และใช้งานหลายแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนในหนึ่งหลักสูตร ดังนั้นจึงเกิดคำถามงานวิจัยที่ว่า คุณสมบัติ (Attribute) ที่จำเป็นต้องมีเพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานคืออะไร โดยในงานวิจัยนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อสร้างรายการตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการเรียนรู้แบบประสานเวลาให้สอดคล้องกันระหว่างระบบและโลกแห่งความเป็นจริง โดยจะถูกพัฒนาจาก 2 ประเด็น ทั้งในเชิงทฤษฎีและในเชิงการใช้งานจริง โดยเริ่มต้นที่เชิงทฤษฎีทางผู้วิจัยจัดทำการทบทวนงานวิจัยและการศึกษาเชิงประจักษ์เกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้เชิงรุกและในเชิงการใช้งานจริง ผู้วิจัยทำการรวบรวมปัญหาการใช้งานจริงของเทคโนโลยีการเรียนรู้แบบประสานเวลา หลังจากนั้นจึงสร้างแบบประเมินงานวิจัยเพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้เชิงรุกในมุมมองของการพัฒนาเทคโนโลยีการเรียนรู้ แล้วจึงทำการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ(Exploratory Factor Analysis: EFA) เพื่อสร้างแบบรายการตรวจสอบคุณสมบัติสำหรับการเรียนรู้แบบประสานเวลาเชิงรุก โดยรายการตรวจสอบคุณสมบัติที่ได้จะประกอบไปด้วย 9 ข้อหลัก 20 ข้อย่อย แล้วจึงทำการทดสอบความเชื่อมั่นของแบบรายการตรวจสอบคุณสมบัติดังกล่าว จากผลการทดสอบพบว่า ความเชื่อมั่นระหว่างผู้ประเมิน (Inter-Rater Reliability: IRR) ทั้ง 2 ท่าน พบว่าค่าสถิติแคปปา มีค่าเท่ากับ 0.773 ซึ่งหมายถึง ระดับความสอดคล้องของผู้ประเมินมีความสอดคล้องกันมาก จึงสรุปได้ว่ารายการตรวจสอบคุณสมบัตินี้มีความน่าเชื่อถือและสามารถนำไปใช้งานได้จริง