คณะทำงานพัฒนาบุคลากรห้องสมุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; คณะกรรมการประสานงานห้องสมุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract:
โครงการพัฒนาศักยภาพบริการของบุคลากรห้องสมุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีงบประมาณ 2551 โดยคณะทำงานพัฒนาบุคลากรห้องสมุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์3 ประการ คือ (1) เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้รับบริการโดยตรง (2) เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของบุคลากรห้องสมุดทั้งสายวิชาชีพและปฏิบัติการ (3) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรห้องสมุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีรูปแบบการดำเนินโครงการและผลการดำเนินโครงการสรุปได้ดังนี้ (1) โครงการการประชุมเสวนารับฟังความคิดเห็นผู้รับบริการห้องสมุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ปฏิรูปบริการห้องสมุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านต้องการอะไร สรุปได้ว่าห้องสมุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีต้นทุนดี ควรมีการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถค้นหาข้อมูลควรจัดทำฐานข้อมูลทั้งในระดับสากลและความรู้พื้นถิ่น ควรแบ่งพื้นที่ในการใช้งานที่ต้องการความเงียบ และบางพื้นที่อนุญาตให้ใช้เสียงได้ หน้าเว็บไซด์ของสถาบันวิทยบริการไม่ควรเปลี่ยนบ่อย ควรมีเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องลิขสิทธิ์ หนังสือในห้องสมุดมีหนังสือเก่าๆ ห้องประชุมสำหรับนิสิตมีน้อยมาก ช่วงปิดเทอมควรให้นิสิตยืมหนังสือได้ ควรมีบริการใหม่ๆ เพิ่ม สำหรับผลการวิเคราะห์แบบสอบถามมีผู้ลงทะเบียน จำนวน 108 คน ตอบแบบสอบถามจำนวน 91 คน (ร้อยละ 84 ) พบว่า มีความพึงพอใจในหัวข้อเสวนา วิทยากร และได้รับประโยชน์ในระดับมาก ส่วนการจัดการในเรื่องการอำนวยความสะดวกของคณะผู้จัด คุณภาพ และความเหมาะสมของระบบโสตทัศนูปกรณ์ สถานที่จัดเสวนาเครื่องดื่ม- อาหารว่าง และระยะเวลาในการจัดเสวนาอยู่ในระดับมากทั้งหมด สำหรับหัวข้อเสนอแนะควรกำหนดกฎระเบียบ การแต่งกายของนิสิต และสิทธิการยืมหนังสือของอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต ด้วยระเบียบที่เหมือนกันทุกคณะ ควรมีนิสิตเป็นกรรมการบริหารห้องสมุดด้วย ควรมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่ห้องสมุดคณะต่างๆ ทำไว้อยู่ใน จุฬาลิเน็ตด้วย เสนอให้มีเครื่องยืม-คืนอัตโนมัติ ทุกห้องสมุด วารสารและหนังสือพิมพ์ควรจัดเป็นชั้นเปิด หน้าเว็บไซด์ อย่าเปลี่ยนบ่อย ควรจัด กลุ่มสนทนา (Focus Group) เฉพาะสาขาหรือกลุ่มวิชา ควรจัดแบบนี้ทุก 6 เดือนหรือ ปีละครั้ง การจัดงานครั้งนี้ดีมาก (2) โครงการพัฒนาศักยภาพบริการของบุคลากรห้องสมุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กำหนดเป็น 2 ลักษณะ ประกอบด้วย (2.1) การบรรยายพิเศษเรื่อง บริหารและบริการเชิงรุกอย่างไรให้ผู้ใช้พึงพอใจ สรุปได้ว่า การทำงานบริการต้องถือแนวคิดว่างานของเราทำให้เขามีความสุข โดยมีหลัก 4 ประการ คือ มีความรัก และภาคภูมิใจในงานที่ทำ มีความคิดในเชิงบวก มีทักษะเป็นเลิศและมีศิลปะในการให้บริการบริการเชิงรุก คือ การเข้าหาลูกค้า ป้องกันปัญหา และนำเสนอโดยไม่ต้องรอให้ร้องขอ สร้างบริการเชิง
รุก คือ ตอบสนองความต้องการผู้ใช้บริการ สำหรับผลการวิเคราะห์แบบสอบถามผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายพิเศษที่ลงทะเบียน จำนวน 232 คน ได้ตอบแบบสอบถามจำนวน 140 คน คิดเป็นร้อยละ 60.34 พบว่า หัวข้อการบรรยายสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ความสามารถในการถ่ายทอดเนื้อหา เทคนิควิธีการนำเสนอของวิทยากร และได้รับประโยชน์และความรู้ ในระดับมากที่สุด ส่วนข้อเสนอแนะควรจัดบรรยายแบบนี้อีกเพราะได้รับทั้งความรู้และได้ผ่อนคลาย เวลาในการบรรยายน้อยไป จะนำไปใช้ในชีวิตการทำงานให้ดียิ่งขึ้น (2.2) การสัมมนา เรื่อง พัฒนางาน พัฒนาคน สู่ความเป็นเลิศ ที่ CHOLCHAN Pattaya Resort จังหวัดชลบุรี การสัมมนาประกอบด้วย การบรรยายพิเศษเรื่องพัฒนางานอย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่าน สรุปได้ 4 ประเด็น คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลง ห้องสมุดกับมหาวิทยาลัยในกำกับ วัฒนธรรมองค์กร และบริการ ปัจจัยความสำเร็จขององค์กรคือ การเอาใจใส่ลูกค้า เรียนรู้ ความคาดหวังงานเกินความคาดหวัง และรักษาไว้ซึ่งสัมพันธ์ภาพระยะยาว นอกจากนี้ได้มีกิจกรรมสัมมนากลุ่มย่อยและกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ สำหรับผลการวิเคราะห์แบบสอบถามผู้เข้าร่วมสัมมนาที่ลงทะเบียน จำนวน 123 คน ได้รับแบบสอบถามตอบกลับ จำนวน 77 คน คิดเป็นร้อยละ 62.60 พบว่า รูปแบบการจัดสัมมนากิจกรรม บริการ และประโยชน์ที่ได้รับ อยู่ในระดับมากทุกหัวข้อ ส่วนข้อเสนอแนะพบว่า ควรพัฒนาปรับปรุงงานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ฐานข้อมูล ผู้ให้บริการ การประชาสัมพันธ์ และบริการเชิงรุก อย่างมีเป้าหมาย นอกจากนี้การพัฒนาศักยภาพของตนเองในเรื่อง บุคลิกภาพ ทักษะด้านภาษา และการเรียนรู้กล่าวโดยสรุปผลการดำเนินโครงการได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ กล่าวคือ การรับฟังความคิดเห็นของผู้รับบริการโดยตรง จากตัวแทนผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย อาจารย์และนิสิตในเรื่อง การเพิ่มพูนศักยภาพของบุคลากรห้องสมุดทั้งสายวิชาชีพและปฏิบัติการ โดยจัดให้ฟังบรรยายพิเศษจากวิทยากรให้รับรู้และเรียนรู้การบริหารและบริการเชิงรุกอย่างไรในการพัฒนาตนและพัฒนางาน ตลอดจนการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรห้องสมุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 29 แห่ง ที่ปฏิบัติงานด้านบริการทุกระดับ ได้มีโอกาสได้รู้จักกัน มีกิจกรรมการแก้ปัญหา และประสานสัมพันธ์ ถึงแม้การสัมมนาครั้งนี้จะเน้นงานบริการ ซึ่งถือเป็นหลักสำคัญของห้องสมุด ยังมีบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งของงานบริการที่ไม่สามารถเข้าร่วม ทั้งนี้ด้วยข้อจำกัดในภารกิจของห้องสมุดที่ต้องเปิดให้บริการอีกทั้งงานในฝ่ายต่างๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วม ซึ่งในปีต่อๆไปควรขยายโครงการให้ครอบคลุม เพราะทุกคนทุกงานในห้องสมุดล้วนเป็นผู้ขับเคลื่อนแหล่งความรู้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่สังคมไทยและสังคมโลก สำหรับประชาคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสังคม