Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์และการแสวงหาการสัมผัสของนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี ตามแนวรูปแบบบูรณาการของการเปลี่ยนพฤติกรรม โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวน 164 คน นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จำนวน 146 คน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตจำนวน 136 คน และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม จำนวน 149 คน ที่มีอายุระหว่าง 17-24 ปี ผลการวิจัยพบว่า 1. เจตคติต่อพฤติกรรม มีสหสัมพันธ์ทางบวกกับผลรวมของผลคูณของความเชื่อเกี่ยวกับผลของการกระทำ และการประเมินผลของการกระทำ (r = .54, p < .001) 2. บรรทัดฐาน มีสหสัมพันธ์ทางบวกกับผลรวมของผลคูณของความเชื่อเกี่ยวกับกลุ่มอ้างอิง และแรงจูงใจที่จะคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง (r = .48, p < .001) 3. การรับรู้ความสามารถของตน มีสหสัมพันธ์ทางบวกกับความเชื่อเกี่ยวกับการควบคุม (r = .78, p < .001) 4. เจตคติต่อพฤติกรรม บรรทัดฐาน และการรับรู้ความสามารถของตน ล้วนมีสหสัมพันธ์ทางบวกกับเจตนาเชิงพฤติกรรม (r = .47. .32, และ .68 ตามลำดับ, p < .001) 5. เจตคติต่อพฤติกรรม บรรทัดฐาน การรับรู้ความสามารถของตน การแสวงหาการสัมผัส และจำนวนครั้งในการดื่มแอลกอฮอล์ในอดีต สามารถอธิบายความแปรปรวนของเจตนาเชิงพฤติกรรมในการดื่มแอลกอฮอล์ได้ร้อยละ 51 (p < .001) โดยเจตคติต่อพฤติกรรมมีน้ำหนักในการทำนายเจตนาเชิงพฤติกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทีระดับ .01 ([beta] = .10) ส่วนการรับรู้ความสามารถของตนและจำนวนครั้งของการดื่มแอลกอฮอล์ในอดีต มีน้ำหนักในการทำนายเจตนาเชิงพฤติกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ([beta] = .54 และ .17 ตามลำดับ)6. เจตนาเชิงพฤติกรรม การควบคุมทางสภาพแวดล้อม และทักษะความสามารถ สามารถอธิบายความแปรปรวนของพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของนิสิตนักศึกษาได้ร้อยละ 21 (p < .001) โดยเจตนาเชิงพฤติกรรม และทักษะและความสามารถ มีน้ำหนักในการทำนายพฤติกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ([beta] = .23 และ .29 ตามลำดับ)