Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินการติดเชื้อภายนอกที่พบในปลาหางนกยูง (Poecilia reticulatea) ที่จำหน่ายที่ตลาดซันเดย์ในกรุงเทพมหานคร เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยการสำรวจข้อมูลร้านค้าที่ขายปลาหางนกยูงและแหล่งที่มาของปลาทั้งหมดที่ขายในตลาดแห่งนี้ สุ่มตัวอย่างโดยการซื้อปลาจากร้านขายปลาหางนกยูง ที่จัดแบ่งคุณภาพร้านเป็น 3 ระดับ คือ ดีมาก (A) ดี (B) และปานกลาง (C) จำนวน 9 ร้าน ร้านละ 10 ตัว ไม่แยกเพศ ไม่แยกสายพันธุ์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทำการตรวจพยาธิภายนอกในวันแรก และวันที่ 7 โดยการวางยาสลบและส่องตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์เตอริโอ กำลังขยาย 40 เท่า นับจำนวนพยาธิแต่ละชนิดที่พบ จากนั้นนำปลาแต่ละร้านมาแยกเลี้ยงไว้โดยไม่ให้อาหาร ไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำ นับจำนวนปลาตายสะสมทุกวัน เป็นเวลา 7 วัน จากการสำรวจด้วยแบบสอบถาม และการสังเกตการณ์ พบว่าร้านค้าประจำที่ขายปลาหางนกยูงที่ตลาดซันเดย์มีจำนวน 32 ร้าน ไม่รวมถึงแผงลอยที่ตั้งขายเป็นบางวัน ปลาหางนกยูงส่วนใหญ่ได้มาจากฟาร์มที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรปราการ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง และราชบุรี ผลการตรวจพบว่ามีพยาธิภายนอกเพียง 5 ชนิด คือ Monogenean, Trichodina, Tetrahymena, Ichthyophirius และ Apiosoma โดยชนิดที่พบได้บ่อยและมากที่สุด คือ Monogenean ซึ่งตรวจพบสูงสุดในเดือนสิงหาคม (57.57%) และพบน้อยที่สุดในเดือนธันวาคม (28.04%) Trichodina ตรวจพบสูงสุดในเดือนมีนาคม (14.81%) และพบน้อยที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ (2.34%) Tetrahymena ตรวจพบได้ค่อนข้างน้อยโดยตรวจพบสูงสุดในเดือนพฤษภาคมเพียง 4.44% และตรวจไม่พบเลยในเดือนกุมภาพันธ์ เมษายน สิงหาคม และตุลาคม ส่วน Ichthyophthirius และ Apiosoma ตรวจพบเพียงครั้งเดียวใน 1 ตัวอย่างจากกลุ่มร้านในระดับ B ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมิถุนายน ตามลำดับ และจากการแบ่งเกรดร้านออกเป็น 3 ระดับ คือ A B และ C พบว่าปลาที่จำหน่ายในร้านที่จัดอยู่ในระดับ C สามารถถูกตรวจพบพยาธิภายนอกได้มากและบ่อยครั้งกว่ากลุ่มร้านในระดับ A และ B