Abstract:
ศึกษาพัฒนาการความสามารถในการเกิดความเชื่อ และความปรารถนาของเด็กไทยอายุ 3-5 ปี และเปรียบเทียบความสามารถในการเข้าใจการเกิดความเชื่อ และความปรารถนาในเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ในเด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียนเพศหญิงและเพศชายอายุ 3 ปี อายุ 4 ปี และอายุ 5 ปี กลุ่มอายุละ 60 คน รวมทั้งสิ้น 180 คน โดยให้เด็กตอบคำถามจากการเล่าเรื่องประกอบภาพในสามเงื่อนไขการทดสอบ คือความเชื่อที่มาจากการรับรู้ ความปรารถนาที่มาจากเจตคติ และความปรารถนาที่มาจากสรีรวิทยา สถิติที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือวิธีวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทาง (Two-way ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า 1. ไม่มีปฏิสัมพันธ์ร่วมระหว่างอายุและเงื่อนไขการทดสอบ ที่ส่งผลต่อความสามารถในการเข้าใจการเกิดความเชื่อและความปรารถนา จึงไม่อาจกล่าวสรุปได้ว่าความสามารถในการเข้าใจการเกิดความเชื่อ ที่มาจากการรับรู้ การเกิดความปรารถนาที่มาจากเจคคติ และการเกิดความปรารถนาที่มาจากสรีรวิทยา จะเพิ่มขึ้นตามระดับอายุ 2. เด็กอายุ 3 ปี อายุ 4 ปี และอายุ 5 ปี มีความสามารถในการเข้าใจการเกิดความเชื่อที่มาจากการรับรู้ ไม่แตกต่างจากการเกิดความปรารถนาที่มาจากเจตคติ แต่ความสามารถทั้งสองนี้มีความแตกต่างจาก การเข้าใจการเกิดความปรารถนาที่มาจากสรีรวิทยา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยเด็กในแต่ละระดับอายุเข้าใจการเกิดความปรารถนา ที่มาจากสรีรวิทยาน้อยที่สุด