Abstract:
วิกฤตการณ์พลังงานเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงในปัจจุบัน จึงมีความพยายามวิจัยหาพลังงานใหม่ขึ้นมาทดแทนน้ำมันปิโตรเลียม งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาการแปรรูปน้ำมันพืช น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว และพลาสติกใช้แล้วให้เป็นเชื้อเพลิงเหลวโดยปฏิกิริยาการแตกตัวด้วยความร้อน และ ด้วยตัวเร่งปฏิกิริยา ทำการทดลองในเครื่องปฏิกรณ์แบบต่อเนื่อง เพื่อศึกษาอิทธิพลของตัวแปรที่มีผลต่อการเปลี่ยนสารตั้งต้นไปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งประกอบด้วย อุณหภูมิอัตราการไหลของแก๊สไฮโดรเจน และอัตราการไหลของสารป้อนเข้าได้แก่น้ำมันพืช น้ำมันหล่อลื่นและพอลิพรอพิลีน อัตราส่วน 0.7 ต่อ ต่อ 0.1 ต่อ 0.2 เมื่อนำผลิตภัณฑ์ของเหลวมาวิเคราะห์ค่าการกระจายตัวตามคาบจุดเดือดด้วยเครื่องแก๊สโครมาโตรกราฟพร้อมซอฟต์แวร์จำลองการกลั่นพบว่าที่อุณหภูมิ 550 องศาเซลเซียส อัตราการไหลของความแก๊สไฮโดรเจน 5 มิลลิลิตรต่อนาทีอัตราการไหลของสารป้อนเข้า 1.23 กรัมต่อนาที บนตัวเร่งปฏิกิริยา 5% เหล็กบนถ่านกัมมันต์ ให้ร้อยละของแก๊สโซลีนสูงที่สุดร้อยละ 50.95 เคโรซีนร้อยละ 10.38 แก๊สออยล์ ร้อยละ 21.68 และกากน้ำมันร้อยละ 16.99 โดยน้ำหนัก นำผลิตภัณฑ์ของเหลวที่ได้ไปกลั่นลำดับส่วนในช่วงการกลั่นตามคาบจุดเดือดของแก๊สโซลีน (ช่วงอุณหภูมิเริ่มต้น ถึง 200 องศาเซลเซียส) บนเครื่องกลั่นขนาดกำลังการกลั่น 1 ลิตรต่อชั่วโมง โดยนำผลิตภัณฑ์ของเหลวที่ได้จากการแตกตัวด้วยความร้อนบรรจุในเครื่องกลั่น ได้ผลิตภัณฑ์เป็นน้ำมันแก๊สโซลีนสังเคราะห์ เมื่อวิเคราะห์สมบัติกายภาพ เช่น สีอัตราการไหลเท ความดันไอ มีสมบัติใกล้เคียงน้ำมันเบนซิน และการวิเคราะห์สมบัติทางเชื้อเพลิงมีค่าใกล้เคียงกับน้ำมันเบนซินออกเทน 91 จากนั้นนำน้ำมันแก๊สโซลีนสังเคราะห์ไปทดสอบกับเครื่องยนต์ทดสอบเพื่อทดสอบประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ พบว่าน้ำมันแก๊สโซลีนสังเคราะห์สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์เบนซินได้ โดยมีประสิทธิภาพต่ำกว่าการใช้น้ำมันเบนซินออกเทน 91 เล็กน้อย