Abstract:
ขณะนี้กำลังมีการตื่นตัวกันมากในแง่ของการนำกวาวเครือขาว, กวาวเครือแดง และกวาวเครือดำ มาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง เป็นยาสมุนไพร และอาหารเสริมที่เกี่ยวข้องกับความต้องการทางเพศและระบบสืบพันธุ์ แต่จะเห็นได้ว่ายังไม่มีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับการหาขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสมของกวาวเครือที่ปลอดภัย ที่จะนำไปใช้ได้พิษวิทยาและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้กวาวเครือรวมไปถึงผลต่อระบบสืบพันธุ์ ในการวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 7การทดลอง โดยการทดลองที่ 1 และ 2 เป็นการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังของกวาวเครือแดงในหนูเมาส์ และผลต่อฮอร์โมนเพศและอวัยวะสืบพันธุ์ในหนูแรทเพศผู้และเพศเมีย การทดลองที่ 3 และ 4 เป็นการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังของกวาวเครือดำในหนูเมาส์ และผลต่อฮอร์โมนเพศและอวัยวะสืบพันธุ์หนูแรทเพศผู้และเพศเมีย และการทดลองที่ 5, 6 และ 7 เป็นการศึกษาฤทธิ์ของกวาวเครือขาวต่อการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะสืบพันธุ์ในหนูแรทโตเต็มวัยและหนูแรทแก่เพศเมีย และผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในหนูแรทเพศเมีย ตามลำดับ ผลการทดลองพบว่า กวาวเครือแดงเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่เหมาะจะนำมาใช้ในการรักษาหรือป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ในเพศชาย เพราะมีฤทธิ์เชิง androgenic effect คล้ายฮอร์โมน testosterone สามารถลดระดับ FSH และ LH ในหนูแรทเพศผู้ แต่ไม่มีผลต่อน้ำหนักและลักษณะทางเนื้อเยื่อของอัณฑะ epididymis และ seminal vesicle และเหมาะที่จะนำไปใช้ในเพศหญิงในเชิง anti-estrogenic (หรือ androgenic) effect อย่างอ่อน เพราะกวาวเครือแดงในขนาดสูง ๆ มีผลไปเพิ่มน้ำหนักและลักษณะทางเนื้อเยื่อของมดลูกและลดระดับ LH ในขณะที่พบว่ากวาวเครือดำไม่มีฤทธิ์ androgenic effect เพราะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักและลักษณะทางเนื้อเยื่อของอัณฑะ, epididymis, seminal vesicle, ระดับtestosterone, FSH และ LH ในหนูแรทเพศผู้ แต่อาจจะมีผลเชิง anti – estrogenic effect อ่อน ๆ ในหนูแรทเพศเมีย เพราะกวาวเครือแดงในขนาด 10 และ100 มก./กก./วัน มีผลไปลดระดับ FSH นอกจากนี้พบว่ากวาวเครือดำมีความเป็นพิษมากกว่ากวาวเครือแดงในขนาดที่เท่ากัน สำหรับผลของกวาวเครือขาวพบว่าเมื่อให้กวาวเครือขาวปริมาณ 25 มก./กก./วัน ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ในคน เป็นเวลานานถึง 200 วัน ในหนูแรทโตเต็มวัยและหนูแรทแก่เพศเมีย ไม่ก่อให้เกิดพิษวิทยาต่อตับ ไต อวัยวะสืบพันธุ์ ปริมาณเม็ดเลือด และค่าทางชีวเคมีในเลือด แต่กวาวเครือขาวในขนาดดังกล่าวสามารถยืดการเข้าสู่สภาวะ perimenopause และ postmenopause ในหนูแรทโตเต็มวัย และหนูแรทแก่เพศเมีย ตามลำดับ อย่างสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน E2, FSH และ LH และกวาวเครือขาวในขนาด 25 มก./กก./วัน ถ้าให้นาน 150 วัน ภายหลังจากให้สารก่อมะเร็งสามารถชักนำให้เกิดก้อนมะเร็งเร็วขึ้น มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนและขนาดของก้อนมะเร็งเต้านมในหนูแรทเพศเมีย แต่ถ้าหากได้รับสารก่อมะเร็งในระหว่างที่ได้รับกวาวเครือขาว นาน 240 วัน สามารถลดอุบัติการณ์เกิดมะเร็งเต้านม ลดจำนวนก้อนของมะเร็งเต้านมลงได้ จากผลการทดลองทั้งหมดนี้กล่าวได้ว่ากวาวเครือแดงมีฤทธิ์ androgenic effect ต่อระบบสืบพันธุ์ในเพศผู้ และกวาวเครือขาวมีฤทธิ์ estrogenic effect ต่อระบบสืบพันธุ์และมะเร็งเต้านมในเพศเมีย และกวาวเครือขาวในขนาด 25 มก./กก./วัน ค่อนข้างปลอดภัยที่จะนำไปใช้ในคน ดังนั้นจึงควรที่จะมีการศึกษาถึงสารออกฤทธิ์ของกวาวเครือแต่ละชนิดต่อไปในอนาคต