Abstract:
ในงานวิจัยนี้ ได้สังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะแทรนซิชัน Pt หรือ Pd ร่วมกับ Ga หรือ Zn บนตัวรองรับมอร์ดิไนต์ ที่ได้ทำการปรับสภาพความเป็นกรดให้ลดลง ด้วยการใส่ K วิธีการใส่โลหะชนิดต่างๆ ใช้วิธีที่ต่างกัน 2 วิธี ทำการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ของตัวเร่งปฏิกิริยาที่สังเคราะห์ได้ด้วยเทคนิค XRD (X-ray diffraction), IR (infrared spectroscopy), ICP-AES (Inductively coupled plasma atomic emission spectrometry), BET (Brunauer –Emmett-Teller method) และ Temperature programmed desorption (TPD) ทดสอบประสิทธิภาพในการเร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนรูปของนอร์มัลเฮกเซน โดยศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อปฏิกิริยา ได้แก่ อุณหภูมิ เวลา อัตราเร็วการป้อนสารตั้งต้น Time on stream ปริมาณโลหะ และวิธีการใส่โลหะตรวจสอบสารตั้งต้นที่เหลือและผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นด้วยเทคนิค GC และ GC/MS หาปริมาณโค้กที่เกิดขึ้นด้วยเทคนิค Thermogravimetric analysis (TGA) ผลการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของตัวเร่งปฏิกิริยา สรุปได้ว่า ชนิดและปริมาณโลหะที่ใส่มีผลต่อ %conversion และสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นมีหลายแบบ โดยเกิด ปฏิกิริยา isomerization เป็นส่วนใหญ่ และ BTX (อะโรแมติก) ในปริมาณที่น้อย การปรับสภาพความเป็นกรดของตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยการเติม K มีผลต่อปฏิกิริยา ในงานวิจัยนี้ ได้ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาผสมโดยเฉพาะสารที่มี Ga เป็นองค์ประกอบ พบว่าสามารถเพิ่ม BTX ให้สูงขึ้นได้ จากการทดสอบตัวเร่งปฏิกิริยาผสมระหว่าง ตัวเร่งปฏิกิริยา 0.5%Pt/2.0%Ga/3%K/MOR กับ Ga-MCM41สามารถทำให้ปริมาณ BTX เพิ่มขึ้นมาก