Abstract:
แบคทีเรียสกุลคลอสทริเดียม เป็นแบคทีเรียแอนแอโรบส์ (Anaerobes) แกรมบวก (Gram positive) ลักษณะเป็นรูปท่อน (Rod shape) สามารถสร้างสปอร์ได้ในสภาวะที่ไม่มีอากาศ ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือการจัดจำแนกชนิดของแบคทีเรียในกลุ่มนี้ค่อนข้างยาก งานวิจัยนี้จึงใช้ลำดับเบสบน 16 เอส ไรโบโซมัล ดีเอ็นเอ เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบแบคทีเรียสกุลคลอสทริเดียมที่คัดแยกได้ กับฐานข้อมูลที่ได้มีการศึกษามาแล้ว โดยเริ่มจากการคัดแยกแบคทีเรีย ทดสอบความสามารถในการย่อยเซลลูโลส ทดสอบความสามารถในการเปลี่ยนซัลไฟต์เป็นซัลไฟด์ การสร้างเอ็นโดสปอร์ จากนั้นทำการสกัดดีเอ็นเอด้วยวิธีต้มเดือด เพิ่มปริมาณ 16 เอส ไรโบโซมัล ดีเอ็นเอ ด้วยวิธีการพีซีอาร์ หาลำดับเบส และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และเปรียบเทียบด้วยโปรแกรม blastn แล้วนำคลอสทริเดียมมาวิเคราะห์ปริมาณสารละลายที่เกิดขึ้นจากการหมักโดยวิธีแก๊สโครมาโทกราฟี ผลการวิจัยพบว่าไอโซเลต DECO-THA DECOM-PA DECOM-PE MIX-P2 และ SCTHAมีเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึง (%identities) กับ Clostridium diolis strain DSM 5431 เท่ากับ 98 98 99 99 และ 99 ตามลำดับ และ DECOM-PB กับ FEA-PC มีเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกับClostridium sp. Kas106-4 เท่ากับ 99 ซึ่งทั้ง 7 ไอโซเลต มีความสามารถในการย่อยเซลลูโลสและสร้างเอ็นโดสปอร์ แต่ DECOM-PB กับ SC-THA ไม่พบความสามารถในการเปลี่ยนซัลไฟต์เป็นซัลไฟด์ และจากการวิเคราะห์ตัวทำละลายอินทรีย์และกรดอินทรีย์ที่เกิดขึ้นในอาหารที่เลี้ยงเชื้อไว้ 96 ชั่วโมง พบว่าอาหารที่ใส่กลูโคสเป็นแหล่งคาร์บอน ทั้ง 7 ไอโซเลตผลิต เอทานอล อะซีโตน บิวทานอล และกรดบิวทิริค ส่วนอาหารที่ใส่เซลลูโลสเป็นแหล่งคาร์บอนพบว่า DECO-THADECOM-PA DECOM-PB และ DECOM-PE ผลิตเอทานอล FEA-PC MIX-P2 และ SC-THA ผลิตเอทานอลและบิวทานอล จากงานวิจัยนี้สรุปได้ว่า การวิเคราะห์บน 16 เอส ไรโบโซมัล ดีเอ็นเอของคลอสทริเดียม ได้ผลที่น่าเชื่อถือ สะดวกและรวดเร็วมากกว่าการจัดจำแนกโดยลักษณะทางสัณฐานวิทยา