Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและคัดเลือกวัชพืชในประเทศไทย ที่มีความสามารถในการสะสมทองแดง สังกะสี และนิกเกิล จากนั้นศึกษาผลของตัวคีเลตและกรดอินทรีย์ที่มีต่อการสะสมทองแดง สังกะสี และนิกเกิลของวัชพืช วัชพืชที่นำมาศึกษาครั้งนี้มี 5 ชนิดคือ ต้อยติ่ง (Ruellia tuberosa (Burm.f.) Hochr.) ผักปลาบใบกว้าง (Commelina benghalensis L.) ผักบุ้งรั้ว (Ipomoea digitata L.) ผักบุ้งพุ่ม (Ipomoea fistulosa Mart. ex Choisy) และบานไม่รู้โรยป่า (Gomphrena celosioides Mart. (G. decumbens)) ผลการศึกษาพบว่าต้อยติ่งเป็นวัชพืชที่สามารถสะสมทองแดง สังกะสี และนิกเกิลทั้งต้นได้มากที่สุดเท่ากับ 1,522 4,111 และ 7,332 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักแห้ง ตามลำดับ ตัวคีเลตและกรดอินทรีย์ที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้มี 5 ชนิดคือ diethylenetriamine pentaacetic acid (DTPA) ethylenediaminedisuccinic acid (EDDS) กรดออกซาลิก กรดซิตริก และกรดกัลลิก เมื่อปลูกต้อยติ่งเป็นเวลา 35 วันแล้ว จะเติมตัวคีเลตและกรดอินทรีย์ที่ความเข้มข้น 15 มิลลิโมลต่อกิโลกรัม จากนั้นจะเก็บเกี่ยวต้นพืชในวันที่ 3 6 9 12 และ 15 หลังจากเติมตัวคีเลตและกรดอินทรีย์ ผลการศึกษาพบว่า EDDS ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสะสมของทองแดงและนิกเกิลของต้อยติ่งได้มากที่สุด ส่วน DTPA จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสะสมสังกะสีของต้อยติ่งได้ดีที่สุด เมื่อเก็บเกี่ยวต้อยติ่งในวันที่ 15 พบว่า EDDS จะทำให้ต้อยติ่งสะสมทองแดงในส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน ส่วนราก และทั้งต้นมากที่สุดเท่ากับ 3,854 5,827 และ 9,450 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ สำหรับ DTPA จะทำให้ต้อยติ่งสะสมสังกะสีในส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน ส่วนราก และทั้งต้นมากที่สุดเท่ากับ 6,272 5,253 และ 6,190 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ ส่วน EDDS จะช่วยให้ต้อยติ่งสะสมนิกเกิลในส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน ส่วนราก และทั้งต้นมากที่สุดเท่ากับ 3,480 4,039 และ 6,515 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ การศึกษาความเป็นพิษของตัวคีเลตและกรดอินทรีย์มีต่อจุลินทรีย์ดินพบว่า DTPA EDDS กรดออกซาลิก กรดซิตริก และกรดกัลลิกไม่มีความเป็นพิษต่อจุลินทรีย์ดิน