Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์การคัดเลือกและจัดลำดับความสำคัญของเภสัชภัณฑ์ต่อระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนวิเคราะห์สภาวการณ์ด้านการตลาด และด้านเศรษฐศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเภสัชภัณฑ์ด้านการแพทย์และ สาธารณสุขของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 จนถึงปี พ.ศ.2545 และศึกษาถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางการเงินและเศรษฐกิจจากการพัฒนาเภสัชภัณฑ์ โดยทำการศึกษาเฉพาะในผลิตภัณฑ์ยา ผลการศึกษาศักยภาพในการแข่งขันในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยารักษาหรือป้องกันโรคของประเทศไทย พบว่า ประเทศไทย มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบที่ต่ำ และยังพบว่า อุตสาหกรรมการผลิตยารักษาโรคของประเทศไทยเป็นภาคอุตสาหกรรม ประเภท Final primary production ซึ่งใช้ผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ มาเป็นปัจจัยการผลิตในระดับต่ำ ขณะที่ อุตสาหกรรมนี้มีอัตราการพึ่งพิงการบริโภคภาคเอกชนอยู่ในระดับอัตราร้อยละ 48.52 (ค่าเฉลี่ย 34.96%) แต่กลับมีอัตราการ พึ่งพิงต่อการส่งออกเพียงร้อยละ 8.87 (ค่าเฉลี่ย 39.25%) แสดงว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกในผลิตภัณฑ์ยารักษา โรคอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดอุตสาหกรรมยาในระดับโลก เมื่อพิจารณาโครงสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมการผลิตยารักษาโรคมีค่าดัชนีความ เชื่อมโยงแบบไปข้างหน้าสูงกว่าดัชนีความเชื่อมโยงแบบไปข้างหลัง และมีการใช้แรงงานภายในภาคอุตสาหกรรมอยู่ใน ระดับต่ำ แต่มีการนำเข้าปัจจัยการผลิตในสัดส่วนที่สูง ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการรั่วไหลของมูลค่าเพิ่มไปยังต่างประเทศ สำหรับการวิเคราะห์ลำดับความสำคัญในเภสัชภัณฑ์ทางการแพทย์ของประเทศไทย เริ่มพิจารณาจากการประเมิน ความสูญเสียจากการเจ็บป่วยด้วยการประมาณค่าความสูญเสียเนื่องจากความเจ็บป่วยหรือความบกพร่องทางสุขภาพ (Year Lived with Disability: YLD) และการวิเคราะห์ดัชนีความสูญเสียอันเนื่องจากการตายก่อนวัยอันสมควร (Year of Life Lost: YLL) พบว่า โรคที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย รวมทั้งมีมูลค่าความสูญเสียเนื่องจากค่าภาระโรค หรือความรุนแรง ของโรคจากการลดประสิทธิภาพการทำงาน และภาครัฐควรจะดำเนินการทำวิจัยและพัฒนา รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการผลิต ยารักษาโรคได้เองภายในประเทศ ได้แก่ โรคเอดส์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งปอด โรคเบาหวาน โรค ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด โรควัณโรค และโรคติดเชื้อ ตามลำดับ โดยอาจเริ่มจากยากลุ่มที่มีการใช้แพร่หลายและหมดสิทธิบัตรคุ้มครอง (Non Patented Drug) แล้วหรือเป็นยาที่อยู่ ในบัญชียาหลัก (National List of Essential Drug) ที่สามารถรักษาโรคกลุ่มดังกล่าวข้างต้น ในอนาคตอาจนำไปสู่การผลิต ตัวยาใหม่ (New Chemical Entity: NCE) อย่างแท้จริงโดยอาศัยรูปแบบ (Model) การพัฒนาอุตสาหกรรมยาจากประเทศที่ ประสบความสำเร็จ และจำเป็นต้องประสานความร่วมมือของหน่วยงานหลายฝ่ายตั้งแต่การผลิตบุคลากร ระบบฐานข้อมูล การวิจัยพัฒนาอันนำไปสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพ และการหาตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องมีการปรับเป้าหมายหรือทิศทางให้เป็นไปในแนวเดียวกัน (Pharmaceutical Industry Alignment) ใน การพัฒนาอุตสาหกรรมยา ทั้งนี้การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวจะช่วยลดการพึ่งพิงการนำเข้ายารักษา โรคจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงทางสุขภาพให้กับประชาชนในประเทศ และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการ พัฒนาประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาค (Medical Hub)ได้ในอนาคต