Abstract:
เปรียบเทียบอัตราการผสมติดของแม่พันธุ์ลูกผสมโฮลสไตน์ฟรีเชียนในฟาร์มโคนมแห่งหนึ่งในช่วงเดือนตุลาคม 2542 – มีนาคม 2543 ระหว่างแม่โคที่เหนี่ยวนำการเป็นสัดโดยการเหนี่ยวนำการเจริญของฟอลลิเคิลและการตกไข่แล้วกำหนดการผสมเทียมกับแม่โคที่ผสมเทียมตามโปรแกรมการจัดการปกติของฝูง โดยสุ่มแบ่งแม่โคออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลองเป็นกลุ่มแม่โคที่เหนี่ยวนำการเจริญของฟอลลิเคิลด้วยโปรเจสเตอโรนชนิดสอดเข้าช่องคลอดร่วมกับเอสตราไดออลเบนโซเอทและพรอสตาแกลนดินเอฟ ทู อัลฟาและผสมเทียมที่เวลา 54-60 ชม. หลังจากถอดโปรเจสเตอโรนโดยไม่ต้องสังเกตอาการเป็นสัด (n = 103 ตัว) และกลุ่มควบคุมเป็นกลุ่มแม่โคที่เป็นสัดตามธรรมชาติและทำการผสมเทียมที่เวลา 12 ชม. หลังจากพบอาการเป็นสัดและยืนนิ่ง (n = 132 ตัว) แบ่งแม่โคกลุ่มทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลองที่ 1 ทำการผสมเทียมที่เวลา 54-60 ชม.หลังจากถอดโปรเจสเตอโรนออก (n = 46 ตัว) และกลุ่มทดลองที่ 2 ฉีดเอสตราไดออล เบนโซเอทขนาด 1 มก. หลังจากถอดโปรเจสเตอโรนออก 24 ชม. เพื่อเหนี่ยวนำการตกไข่ให้ใกล้เคียงกันแล้วทำการผสมเทียมแบบกำหนดเวลาเช่นเดียวกับกลุ่มทดลองที่ 1 (n = 57 ตัว) ผลการทดลองพบว่าอัตราการผสมติดของแม่โคกลุ่มทดลองที่ 1 และกลุ่มทดลองที่ 2 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (26.10% และ 31.58 %ตามลำดับ ; p>0.05) และอัตราการผสมติดของแม่โคกลุ่มที่เหนี่ยวนำการเจริญของฟอลลิเคิลแล้วผสมเทียมแบบกำหนดเวลาสูงกว่ากลุ่มแม่โคที่ผสมเทียมตามการจัดการปกติของฝูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (29.13% และ18.18%ตามลำดับ ; p>0.05) สรุปได้ว่าโปรแกรมการเหนี่ยวนำการเจริญของฟอลลิเคิลและการตกไข่นี้ สามารถนำมาใช้เหนี่ยวนำการเป็นสัดแล้วทำการผสมเทียมแบบกำหนดเวลาโดยไม่ต้องสังเกตอาการเป็นสัดได้และสามารถช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ของฝูงโคนม