Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชานาฏศิลป์และดนตรี ในด้าน 1) ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาเกี่ยวกับนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง 2) ด้านทักษะการปฏิบัติจังหวะ และการปฏิบัติท่ารำประกอบจังหวะพื้นเมือง 3) ด้านเจตคติต่อการเรียนวิชานาฏศิลป์และดนตรี ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมระหว่างกลุ่มที่เรียนวิชานาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมืองโดยใช้จังหวะเซิ้งและจังหวะตึ่งนง โดยกำหนดให้มีกลุ่มทดลองจำนวน 7 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มทดลองที่ 1 เรียนดนตรีจังหวะตึ่งนงก่อนเรียนนาฏศิลป์จังหวะตึ่งนง, กลุ่มทดลองที่ 2 เรียนดนตรีจังหวะตึ่งนงก่อนเรียนนาฏศิลป์จังหวะเซิ้ง, กลุ่มทดลองที่ 3 เรียนดนตรีจังหวะเซิ้งก่อนเรียนนาฏศิลป์จังหวะตึ่งนง, กลุ่มทดลองที่ 4 เรียนดนตรีจังหวะเซิ้งก่อนเรียนนาฏศิลป์จังหวะเซิ้ง, กลุ่มทดลองที่ 5 เรียนนาฏศิลป์จังหวะตึ่งนงก่อนเรียนดนตรีจังหวะตึ่งนง, กลุ่มทดลองที่ 6 เรียนนาฏศิลป์จังหวะเซิ้งก่อนเรียนดนตรีจังหวะเซิ้ง, กลุ่มทดลองที่ 7 เรียนนาฏศิลป์จังหวะตึ่งนง ก่อนเรียนดนตรีจังหวะเซิ้ง โดยใช้ระยะเวลาการทดลอง 18 สัปดาห์ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ระเบียบวิธีทางสถิติประเภทการทดสอบความแปรปรวนทางเดียวผลการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนวิชานาฏศิลป์ของนักเรียนในด้านความรู้ ด้านทักษะและด้านเจตคติของกลุ่มทดลองที่ 1 2 3และ 4 มีค่าเฉลี่ยคะแนนวิชานาฏศิลป์ด้านความรู้และด้านทักษะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ส่วนด้านเจตคติของกลุ่มทดลองที่ 1 2 3และ 4 ไม่มีความแตกต่างกัน ส่วนค่าเฉลี่ยคะแนนวิชาดนตรีของนักเรียนในด้านความรู้ ด้านทักษะและด้านเจตคติ ของกลุ่มทดลองที่ 5 6 และ 7 พบว่ามีค่าเฉลี่ยด้านความรู้ที่ไม่แตกต่างกัน ด้านทักษะมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และด้านเจตคติมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05