Abstract:
ชุดโครงการวิจัยนี้ แบ่งการศึกษาออกเป็น 4 โครงการย่อย ซึ่งประกอบด้วย โครงการที่ 1 การศึกษาเปรียบเทียบระดับแอนติบอดีในแม่สุกรที่ได้รับการฉีดวัคซีนโปรแกรม 3 ชนิด และผลกระทบของภูมิคุ้มกันถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกในการสร้างภูมิคุ้มกันในลูกสุกรเมื่อได้รับการฉีดวัคซีน โครงการที่ 2 การพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคอหิวาต์สุกรและการพัฒนาการตรวจวัดภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์ต่อเชื้อไวรัสอหิวาต์สุกร โครงการที่ 3 การศึกษาพัฒนาวิธีผลิตวัคซีนอหิวาต์สุกรชนิดเซลล์เพาะเลี้ยง และโครงการที่ 4 การศึกษาระดับภูมิคุ้มกันถ่ายทอดที่สามารถป้องกันการเกิดอหิวาต์สุกรเมื่อได้รับการฉีดเชื้อพิษอหิวาต์สุกร Chiangmai/98 โครงการที่ 1 การศึกษาสถานภาพของระดับแอนติบอดีในแม่สุกรที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์สุกร 3 โปรแกรมพบว่า ระดับแอนติบอดีในแม่สุกรที่ 1 สัปดาห์หลังคลอดในโปรแกรมที่ได้รับการฉีดวัคซีน 3 สัปดาห์ก่อนคลอดหรือโปรแกรมฉีดพร้อมกันทุกตัวในฟาร์มปีละ 3 ครั้ง ไม่มีความแตกต่างกัน ส่วนแม่สุกรที่ฉีดวัคซีนโปรแกรม 3 สัปดาห์หลังคลอดมีค่าใช้จ่ายของระดับแอนติบอดีต่ำกว่าทั้ง 2 โปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ผลการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันถ่ายทอดสู่ลูกสุกรที่เกิดจากแม่ที่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้ง 3 โปรแกรมเมื่อลูกสุกรอายุ 1 และ 3 สัปดาห์ มีระดับแอนติบอดีที่สอดคล้องกับแอนติบอดีในแม่ การศึกษาผลกระทบของระดับภูมิคุ้มกันถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกที่อาจมีผลรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันในลูกสุกรเมื่อฉีดวัคซีน ผลการศึกษาการประเมินประสิทธิภาพของโปรแกรมการฉีดวัคซีนในลูกสุกรครั้งเดียวที่อายุ 3 สัปดาห์หรือ 2 ครั้งที่อายุ 3 และ 5 สัปดาห์ พบว่า วัคซีนให้ความคุ้มโรคได้ แม้ลูกสุกรมีภูมิคุ้มกันถ่ายทอดจากแม่ในระดับที่แตกต่างกัน ณ วันฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตามพบว่าภูมิคุ้มกันถ่ายทอดในระดับสูงจะรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์ในลูกสุกรเมื่อฉีดวัคซีน โครงการที่ 2 การตรวจวินิจฉัยโรคอหิวาต์สุกรโดยวิธี reverse transcriptase polymerase chain reaction (RT-PCR) พบว่าเมื่อใช้ primer 324 และ 326 เป็นวิธีที่มีความไวและความจำเพาะสูง สามารถตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสอหิวาต์สุกรที่แยกได้ในประเทศทุก genogroups และให้ผลสอดคล้องกับวิธีการแยกและพิสูจน์เชื้อในเซลล์เพาะเลี้ยง จึงเหมาะสำหรับนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคอหิวาต์สุกรในประเทศ (โครงการที่ 2.1) สำหรับวิธี RT-PCR เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสอหิวาต์สุกรในส่วนของ gp 55 ร่วมกับการใช้เอ็นไซม์จำเพาะ เพื่อแยกไวรัสจากวัคซีนที่แยกได้จากท้องที่ พบว่ามีข้อจำกัดในเรื่องความไว และความจำเพาะ จึงอาจไม่เหมาะสำหรับนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคและแยกแยะชนิดของเชื้อในประเทศ การพัฒนาวิธีการตรวจวัดภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์โดยการตรวจหาปริมาณเซลล์ที่สร้างแอนติบอดี (antibody secreting cells) และเซลล์ที่สร้างอินเตอเฟอรอนแกมม่า (IFN[gamma]) ที่จำเพาะต่อเชื้ออหิวาต์สุกรเพื่อใช้เป็นตัวบ่งชี้ระดับ antiviral immunity และใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนอหิวาต์สุกร ผลการวิจัยสามารถพัฒนาเทคนิค ELISPOT เพื่อตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์ต่อเชื้ออหิวาต์สุกรได้เป็นผลสำเร็จ (โครงการที่ 2.2) โครงการที่ 3 พัฒนาวิธีผลิตวัคซีนอหิวาต์สุกรเชื้อเป็นเซลล์เพาะเลี้ยงโดยใช้เชื้อไวรัสวัคซีนสเตรน GPE เพาะเลี้ยงในเซลล์ FS-L[subscript 3] พบว่าสามารถนำมาใช้ผลิตเป็นวัคซีนชนิดดูดแห้งที่ได้มาตรฐานทางห้องปฏิบัติการเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูงและให้ความคุ้มครองได้อย่างสมบูรณ์ในสุกรเมื่อฉีดพิษทับวัคซีนที่ผลิตได้มีความเหมาะสมที่จะนำไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรมต่อไป โครงการที่ 4 การทดสอบภูมิคุ้มกันถ่ายทอดจากแม่และการฉีดวัคซีนในลูกสุกรต่อไวรัสอหิวาต์สุกร Chiangmai/98 ซึ่งเป็นเชื้อใน genogroup 2.2 พบว่าภูมิคุ้มกันถ่ายทอดมีผลน้อยมากต่อการให้ความคุ้มครองโรคต่อการฉีดพิษทับด้วยเชื้อ genogroup 2.2 นอกจากนั้นภูมิคุ้มกันถ่ายทอดมีผลรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันทั้งชนิดเซลล์และแอนติบอดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ต่อการฉีดวัคซีน
Description:
โครงการที่ 1 : การศึกษาสถานภาพระดับภูมิคุ้มกันและการประเมินประสิทธิภาพของโปรแกรมการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์สุกรในแม่และลูกสุกร -- โครงการที่ 2 : การพัฒนาวิธีวินิจฉัยโรคอหิวาต์สุกร -- โครงการที่ 3 : การพัฒนาวิธีผลิตวัคซีนอหิวาต์สุกรโดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยง -- โครงการที่ 4 : การศึกษาระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการเกิดโรคอหิวาต์สุกร