Abstract:
ตัวอย่างหินจำนวน 446 ตัวอย่างของกลุ่มหินโคราชที่ใช้ศึกษาลักษณะสนามแม่เหล็กบรรพกาลเพื่อหาตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ละติจูดโบราณในช่วงมหายุคเมโสโซอิกได้จากพื้นที่ศึกษาย่อย 4 พื้นที่ในเขตที่ราบสูงโคราช ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยการเลือกพื้นที่ในการเก็บตัวอย่างได้จากการใช้ข้อมูลโทรสัมผัสซึ่งบ่งชี้ถึงแนว lineament ที่มีผลต่อการเก็บตัวอย่างในแต่ละพื้นที่ฯ ผลการศึกษาทางศิลาวรรณาโดยใช้แผ่นหินขัดจำนวน 40 แผ่นพบว่า กลุ่มแร่ที่เก็บแม่เหล็กปฐมภูมิพบเป็น matrix ในเนื้อหิน ได้แก่เม็ดแร่ฮีมาไทต์ แมกนีไทต์และอิลเมไนต์ และกลุ่มแร่ที่เก็บแม่เหล็กทุติยภูมิพบเป็นตัวเชื่อมประสานในเนื้อหิน ได้แก่ผลึกแร่เกอไทต์และฮีมาไทต์ทุติยภูมิ ตัวอย่างจำนวน 382 ตัวอย่างแสดงค่า NRM > 0.6 mA/m ซึ่งเพียงพอที่จะนำไปเผาตัวอย่าง ณ อุณหภูมิตั้งแต่ 100° – 730° C และภายหลังการเผาตัวอย่างด้วยความร้อนสามารถสรุปได้ว่าลักษณะของสนามแม่เหล็กปฐมภูมิมีทิศทางอยู่ในแนว NE-SW ถูกทำลายเมื่อเผาถึงอุณหภูมิที่ 350° – 550° C หรือมากกว่า 600° C 202 ตัวอย่างที่มีค่ายอมรับได้ใช้ในการคำนวณทิศทางสนามแม่เหล็กเฉลี่ยของหมวดหินต่างๆ ในกลุ่มหินโคราช ให้ค่ามุมเบี่ยงเบนที่ใกล้เคียงกันคือ 29.6° – 31.8° C และให้ค่ามุมเอียงเทต่างกันเล็กน้อย ซึ่งอยู่ระหว่าง 27.1° – 39.6° C ซึ่งสามารถหาค่าเฉลี่ยของ VGPs pole ของกลุ่มหินโคราชอายุไทรแอสซิกตอนต้นถึงครีเตเชียสอยู่ที่ละติจูดประมาณ 58.7° – 61.6° N และลองจิจูดประมาณ 176.9°- 192.7° E และมีค่าละติจูดโบราณประมาณ 14.4° - 22.5° N ข้อมูลทั้งหมดแปลความหมายได้ว่าภายหลังจากยุคเพอร์เมียน ประเทศไทยได้เคลื่อนที่ขึ้นมาจากเส้นศูนย์สูตรอย่างรวดเร็ว โดยมีแนววางตัวเบี่ยงเบนทวนเข็มนาฬิกาไปจากปัจจุบัน 29° - 31° C จนอยู่ในละติจูดประมาณ 15° - 16° N ในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย และที่ละติจูด 22° - 23° N ในยุคจูแรสซิกตอนกลาง ต่อมาประเทศไทยค่อยๆ เลื่อนลงไปตามรอยเลื่อน Red River Fault จนถึงละติจูดประมาณ 14° - 16° N ในยุคครีเทเซียสตอนกลางและเคลื่อนไหวในบริเวณแคบๆ จนถึงปัจจุบัน