Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้อาศัยข้อมูลภาพจากดาวเทียมแลนด์เซท ทีเอ็ม 5 (1:1,000,000) 29 ภาพ ซึ่งทำการเน้นภาพด้วยฮีสโตแกรม เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดกว่าปกติทั่วไป การใช้ภาพจากดาวเทียมศึกษาวิจัยนี้เพราะมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการเห็นภาพโครงสร้างธรณีวิทยาบริเวณกว้างครอบคลุมพื้นที่ในหลายประเทศ (ไทย, พม่า, ลาว และจีนตอนใต้) ได้อย่างถูกต้องขึ้น การศึกษาครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการผนวกข้อมูลภาพจากดาวเทียมกับข้อมูลแผ่นดินไหว และข้อมูลทางธรณีวิทยาซึ่งโดยมีวิธีการวิเคราะห์เริ่มจากการแปลภาพจากดาวเทียมด้วยสายตาจนทำให้ได้แนวเส้นโครงสร้าง (limeaments) ในแต่ละภาพต่อจากนั้นนำมาต่อกันเป็นแผนที่แนวเส้นโครงสร้าง ซึ่งเมื่อกำหนดข้อมูลแผ่นดินไหวลงไปจะทำให้ทราบว่าแนวเส้นใดหรือรอยเลื่อนใดยังมีผลอยู่ ผลการศึกษาครั้งนี้ทำให้ทราบว่า แผ่นดินไหวที่เกิดอยู่บนทวีป มีความสัมพันธ์อย่างมากกับลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยา โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกตลอดจนรอยเลื่อนใหญ่ๆ ทั่งที่อยู่ในประเทศไทยและประเทศข้างเคียง และสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ต้องนำภาพดาวเทียมมาเป็นข้อมูลหลักในการศึกษานี้ เนื่องจากต้องการทราบว่าแนวหรือกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังที่ปรากฏนอกประเทศจะมีแนวต่อเลยมาถึงประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด จากการศึกษาพบว่ากลุ่มรอยเลื่อนที่สำคัญๆ ในภูมิภาพที่ศึกษามีอยู่ 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม อินโด-พม่า, สะเกียง-ปานหลวง-ตวงกุย, นานติง-เปาชาน-เชียงราย, แดง-มา-ดา, แม่สะเรียง-แม่ปิง-เจดีย์สามองค์, อตุรดิษถ์-แพร่-หลวงพระบาง-เดียนเบียนฟู และแม่ทา-แม่ริม ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงตั้งแต่ 3 ในมาตราริกเตอร์ขึ้นไป จนถึง 7.5 ซึ่งนับว่ามีความรุนแรงตั้งแต่น้อยถึงมากพอสมควร และมี 4 กลุ่มที่มีแนวต่อเลยมาในประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดแผ่นดินไหวอยู่นอกประเทศ ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 6 ถึง 7 ริกเตอร์ขึ้นไป และจากข้อมูลประวัติศาสตร์และข้อมูลอุตุนิยมวิทยาทำให้ทราบว่ายังไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ถึง 6 หรือ 7 ริกเตอร์เกิดในประเทศไทยเลย ผลการตีความภาพจากดาวเทียม และข้อมูลในแง่ธรณีแปรสัณฐานทำให้ทราบว่าบริเวณที่เปลือกโลกมีการชนกันมาก่อนและทำให้เกิดรอยเลื่อนหลายแห่ง นับได้ว่าเป็นจุดอ่อนตัวของเปลือกโลกซึ่งอาจทำให้เกิดรอยแตกลึกๆ ได้และอาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวเหมือนกัน อย่างไรก็ตามจากข้อมูลแผ่นดินไหวของกรมอุตุฯ ทำให้ทราบว่า บริเวณรอยต่อเหล่านี้อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้รุนแรง (ถึง 7 ริกเตอร์) ในประเทศข้างเคียง เช่น พม่า เวียดนาม และจีน แต่ไม่ค่อยมีผลมากเท่าใดนักในประเทศไทย (ส่วนใหญ่ในไทยมักอยู่ในระดับอ่อน ประมาณ 3 ริกเตอร์) แผ่นดินไหวที่เกิดในปัจจุบันที่มีจุดกำเนิดในประเทศไทยเท่าที่ได้ศึกษาจากการวิจัยครั้งนี้นับได้ว่าไม่รุนแรงนัก เช่นที่เมืองกาญจนบุรี ประมาณ 5-6 ริกเตอร์ ที่หลายคนคิดว่าอาจเป็นผลมาจากการเลื่อนตัวของเปลือกโลกนั้น น่าจะมาจากการกักน้ำสร้างเขื่อนบนแนวรอยเลื่อนมากกว่า ผลของการกักน้ำนี้อาจทำให้เกิดการเพิ่มความดัน (ช่องว่าง) ให้มากขึ้นจนทำให้เปลือกโลกบริเวณที่มีการเคลื่อนตัวนั้นเกิดการเลื่อนตัวใหม่ได้ จนเกิดแผ่นดินไหวในที่สุด การวิจัยครั้งนี้อาจสรุปได้ว่า ลักษณะโครงสร้างใหญ่ๆ ของไทย เช่น รอยเลื่อนในภาคตะวันตกและภาคเหนืออาจมีผลหรือมีความสัมพันธ์จนมีผลทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดเล็กได้ อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษานี้ทำให้คาดคิดว่ากลุ่มรอยเลื่อนในไทย เช่น กลุ่มรอยเลื่อนเชียงราย (แม่จัน) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์-แพร่ และรอยเลื่อนแม่ทา-แม่ริม ในภาคเหนือ และรอยเลื่อนแม่สะเรียง-แม่ปิง-เจดีย์สามองค์ในภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ มีความสัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหวในปัจจุบันและน่าจะมีพลัง (active) อยู่ แต่ไม่น่าจะก่อให้เกิดการไหวตัวอย่างแรงในอนาคตเหมือนในแถบรอบข้างในประเทศไทยเรา ดังนั้นเขตพื้นที่เสี่ยงภัยต่อแผ่นดินไหวจึงควรกำหนดให้เฉพาะทางภาคเหนือและตะวันตกเป็นเขตแผ่นดินไหวอย่างอ่อนได้ ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลทางสถิติเข้าผนวกด้วย หากมีการทำรายละเอียดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับประวัติการเคลื่อนตัว การวางตัวของรอยเลื่อนและทิศทางการเคลื่อนตัวในอดีตจนถึงปัจจุบันสืบไป