Abstract:
ภูเขาไฟบริเวณลำนารายณ์ จังหวัดลพบุรี มีการกระจายตัวไปในทิศเหนือใต้โดยเฉลี่ย และแผ่ปกคลุมพื้นที่มากกว่า 1200 ตร.กม. ลักษณะโดยทั่วไปทางภูมิศาสตร์ปรากฏให้เห็นเป็นเนินภูเขาไฟรูปโดมชัดเจน โดยเฉพาะตอนกลางของทางตะวันออกของพื้นที่ และมีลักษณะเป็นเขาเกือบยอดราบทางตอนเหนือและทางตะวันตก หินภูเขาไฟบริเวณลำนารายณ์นี้แทรกดันเข้าไปในหินปูนยุคเพอร์เมียนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ติดกับขอบที่ราบสูงโคราช ในการศึกษาครั้งนี้ข้อมูลภาพจากดาวเทียมแลนด์แซท ภาพถ่ายทางอากาศและข้อมูลธรณีฟิสิกส์ทางอากาศ โดยเฉพาะข้อมูลความเข้มสนามแม่เหล็กและข้อมูลความเข้มกัมมันตรังสี เพื่อกำหนดลักษณะแนวภูเขาไฟและโครงสร้างธรณีวิทยาที่สำคัญๆ ในการแปรความหมายภูเขาไฟ ซึ่งจากข้อมูลในสนามผนวกกับข้อมูลโทรสัมผัสต่างๆ โดยเฉพาะที่ได้จากภาพจากดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศ สามารถจำแนกหน่วยหินออกเป็น 7 หน่วยหินหลักได้แก่ 1) หน่วย FA (-เถ้าตก) 2) หน่วย FL (-เถ้าไหล) 3) หน่วย M (-หินภูเขาไฟชนิดมวล) 4) หน่วย FAM (-มวลเถ้าตก) 5) หน่วย G (-หินไมโครแกรนิต) 6) หน่วย B (-บะซอลต์ยุคเก่า) 7) หน่วย BS (-บะซอลต์ยุคใหม่) โดยหน่วยหินตั้งแต่ 1 ถึง 4 ส่วนใหญ่เป็นหินภูเขาไฟสีจางและมีหินบะซอลต์แทรกสลับ ผลจากข้อมูลความเข้มกัมมันตรังสีทางอากาศ (U, Th และ K) สามารถจำแนกออกได้เป็น 8 หน่วยกัมมันตรังสี โดยอาศัยการแปรความหมายจากแผนที่สีผสมและพบว่า พื้นที่ศึกษามีค่าความเข้มกัมมันตรังสีค่อนข้างต่ำ ประกอบด้วยหินไรโอไลต์ หินแอนดิไซด์ และหินบะซอลต์ โดยที่หินไรโอไลต์และแอนดิไซด์ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ส่วนบริเวณที่เป็นหินบะซอลต์ สามารถแยกจากหินชนิดอื่นโดยมีค่ากัมมันตรังสี U Th และ K ต่ำกว่าบริเวณที่หินมีสีจางกว่า หินเถ้าตกภูเขาไฟแยกจากมวลหินไรโอไลต์เนื่องจากมีค่า K อยู่ ทำให้มีองค์ประกอบค่อนไปทางหินอัคนีสีเข้มส่วนบริเวณที่มีการทับถมของตะกอนทั้งทางตะวันตกและตะวันออก มักเป็นหินบะซอลต์และมีหินแอนดิไซด์บ้าง ผลจากข้อมูลความเข้มสนามแม่เหล็ก ซึ่งโดยเฉลี่ยมีความเข้มค่อนข้างสูงสามารถจำแนกและจัดแบ่งช่วงความเข้มออกเป็นหน่วยต่างๆ ได้ 12 หน่วย โดยที่หน่วยแม่เหล็ก M1 และ M7 เป็นอัคนีบาดาลจำพวกแกรนิต ซึ่งเป็นกระเปาะของหินหนืดซึ่งเป็นต้นกำเนิดของหินภูเขาไฟลำนารายณ์ ซึ่งต่อมาเกิดการเคลื่อนที่ของแนวรอยแตกใหญ่ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ เกิดหน่วย M2, M4, M5 และ M6 และเกิดการแทรกตัวของหน่วย M3 เข้ามาตามรอยแตกในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ส่วน M5 เป็นบริเวณที่มีค่าความเข้มสนามแม่เหล็กสูงสุด ส่วน M10 ถึง 12 ไหลเข้ามาทับ M8 และ 9 อีกที ผลจากข้อมูลจากภาคสนามและแผ่นหินบางและแผ่นหินขัด สอดคล้องได้ดีกับผลที่แปรได้จากข้อมูลธรณีฟิสิกส์ทางอากาศและข้อมูลภาพจากดาวเทียม และทำให้เชื่อว่า อายุของหินภูเขาไฟลำนารายณ์ไม่แก่กว่ายุคเทอร์เชียรีตามที่ได้เคยคิดไว้จากการศึกษาเบื้องต้นนี้ ส่วนด้านอายุหินผลจากการคำนวณหาอายุหินโดยวิธี [superscript 40]Ar/ [superscript 39]Ar ทำให้ทราบว่าหินภูเขาไฟลำนารายณ์มีอายุอยู่ในช่วงประมาณกลางถึงปลายยุคเทอร์เชียรี (24 ถึง 7 ล้านปี) ผลจากข้อมูลโทรสัมผัสทำให้เชื่อว่า การเลื่อนตัวของรอยเลื่อนใหญ่แม่ปิงในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและบางส่วนตัดเข้ามาในบริเวณหินภูเขาไฟลำนารายณ์ในแบบขวาเข้า อาจยังผลให้เกิดรอยเลื่อนปกติในแนวเหนือ-ใต้ และรอยเลื่อนตามแนวระดับในทิศตะวันออกเฉียงเหนือเกิดการขยับตัว จนในที่สุดเกิดการประทุของหินภูเขาไฟลำนารายณ์ การปะทุคงเกิดในขณะที่มีการเกิดของแอ่งตะกอนเพชรบูรณ์ซึ่งวางตัวในแนวเหนือใต้ การปรากฏเป็นหินบะซอลต์ให้พลอยทางแถบวิเชียรบุรีทางตอนเหนือของพื้นที่ศึกษาลำนารายณ์ จากการหลอมละลายบางส่วนในชั้นเนื้อโลกตอนบนในตอนช่วงท้ายสุดของการประทุของแนวภูเขาไฟลำนารายณ์