Abstract:
พื้นที่ที่ทำการศึกษา ครอบคลุมอาณาบริเวณท้องที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน และลำปาง คิดเป็นเนื้อที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ข้อมูลที่ใช้ทำการศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วยภาพดาวเทียม Landsat TM5 ขนาดมาตราส่วน 1:125,000 สำหรับการศึกษาลักษณะโครงสร้างใหญ่ในพื้นที่ศึกษารวม และภาพถ่ายทางอากาศ ขนาดมาตราส่วน 1:50,000 สำหรับการศึกษาในขั้นกึ่งละเอียดบริเวณพื้นที่ย่อย 5 พื้นที่ ซึ่งได้แก่พื้นที่ย่อยเวียงป่าเป้า & วังเหนือ, พื้นที่ย่อยบ้านห้วยแก้ว, พื้นที่ย่อยบ้านสันต้นหมื้อ & บ้านแม่กรณ์, พื้นที่ย่อยรอยเลื่อนแม่ทาและพื้นที่ย่อยน้ำแม่ลาว รวมไปถึงข้อมูลชนิดของแหล่งแร่มีค่าทางเศรษฐกิจต่างๆ สภาพธรณีวิทยาของบริเวณศึกษาประกอบด้วย หินอายุตั้งแต่ แคมเบรียน จนถึงตะกอนควอเทอร์นารี หินอัคนีประกอบไปด้วยหินแกรนิตบริเวณตอนกลางของพื้นที่ศึกษาและหินภูเขาไฟที่ถูกแปรสภาพในบริเวณตะวันออกของพื้นที่ศึกษา การศึกษาในขั้นกึ่งละเอียดบริเวณพื้นที่ย่อย 5 พื้นที่โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าสามารถแบ่งหินตะกอนและหินแปรในพื้นที่ย่อยเวียงป่าเป้า & วังเหนือได้ 12 หน่วยหิน (units) และแบ่งหินแกรนิตได้ 2 ชุด สามารถแบ่งหินตะกอนและหินแปรในพื้นที่ย่อยบ้านห้วยแก้วได้ 5 หน่วยหิน (units) และแบ่งหินแกรนิตได้ 5 ชุด สามารถแบ่งหินตะกอนหรือหินแปรในพื้นที่ย่อยบ้านสันต้นหมื้อ & บ้านแม่กรณ์ได้ 7 หน่วยหิน (units) และแบ่งหินแกรนิตได้ 5 ชุด สามารถแบ่งหินตะกอนหรือหินแปรในพื้นที่ย่อยรอยเลื่อนแม่ทาได้ 8 หน่วยหิน (units) และแบ่งหินแกรนิตได้ 3 ชุด สามารถแบ่ง หินตะกอนหรือหินแปรในพื้นที่ย่อยน้ำแม่ลาวได้ 10 หน่วยหิน (units) และแบ่งหินแกรนิตได้ 6 ชุด จากการแปลภาพถ่ายทางอากาศและภาพดาวเทียม พบรอยเลื่อนขนาดใหญ่ 5 แนว คือ รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนขุนตาล-น้ำแม่ลาว และรอยเลื่อนศรีธรณีในแนวเหนือ-ใต้ กลุ่มรอยเลื่อนดอยสะเก็ตในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ และกลุ่มรอยเลื่อนขุนตาลน้อยในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนแนวแตกที่พบมีที่สำคัญ 4 แนวคือแนว เหนือ-ใต้ แนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ แนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้และแนวตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งทุกแนวมีบทบาทต่อการควบคุมการเกิดแหล่งแร่ชนิดต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะที่มีการตัดกันของแนวรอยแตกหลายๆ ทิศจะมีโอกาสให้แหล่งแร่ได้มาก และมีผลต่อการสำรวจหาแหล่งแร่ใหม่ๆ ในอนาคตด้วย แนวรอยแตกบางแนวเป็นตัวควบคุมการเกิดแนวหินแกรนิตด้วย หินแกรนิตที่สำคัญคือ หินแกรนิตดอยหลวง (62 ล้านปี) หินแกรนิตพร้าว-เวียงป่าเป้า (204-215 ล้านปี) หินแกรนิตขุนตาล (204-212 ล้านปี) และหินแกรนิตดอยหมอก (202-222 ล้านปี) แกรนิตชนิดแรกเป็น I-type ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแหล่งแร่ทองพลวงและทังสะเตน แกรนิตสามชนิดหลังเป็นชนิด peraluminous S-type ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแหล่งแร่ดีบุก-ทังสะเตน REE และแหล่งแร่ฟลูออไรต์ จากการศึกษาแนวรอยแตกพบว่าแหล่งแร่พลวง ทอง เหล็ก แมงกานีส และทังสะเตน มีความสัมพันธ์กับรอยแตกย่อยแนวเหนือ-ใต้ และหินแกรนิต I-type แหล่งแร่ดีบุก-ทังสะเตนและยูเรเนียม มีความสัมพันธ์กับแนวรอยแตกเหนือ-ใต้ และตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนฟลูออร์ไรต์ น่าจะมีความสัมพันธ์กับรอยแตกในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ และแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับ peraluminous S-type granite มวลไพศาล สำหรับแหล่งแร่แบร์ไรต์เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับ รอยแตกย่อยแนวเหนือ-ใต้ สำหรับรอยแตกที่มีลักษณะ เป็นรูปโค้งหรือวงแหวนซ้อนซึ่งมีอยู่เล็กน้อย เชื่อว่าเป็นผลจากการตัดตัวหินแกรนิตที่อยู่ข้างใต้และยังคงทำงานอยู่ และมีความเป็นไปได้ที่มันจะมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อายุใหม่ๆ