Abstract:
ในประเทศไทยมีการเรียนการสอนภาษาเยอรมันมานานกว่า 80 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีการรวบรวม วิเคราะห์และสรุปให้เห็นพัฒนาการของการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในประเทศไทยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง บทความวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ ประการแรก เพื่อรวบรวม วิเคราะห์และสรุปให้เห็นพัฒนาการของการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในประเทศไทยทั้งในระดับโรงเรียนและระดับมหาวิทยาลัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่มจากประวัติ กระบวนการเรียนการสอน หลักสูตร การพัฒนาสื่อการสอน การผลิตบุคลากรผู้สอนและผู้เรียน ทัศนคติและความคาดหวังของผู้เรียนและผู้สอน ผลงานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนภาษาเยอรมัน นอกจากนี้ยังศึกษาเกี่ยวกับองค์กรและหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในประเทศไทย วัตถุประสงค์ประการที่สองคือเพื่อชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคและปัญหาของการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในอนาคต กล่าวคือ ปัญหาที่ว่า ใครเป็นผู้กำหนดนโยบายการเรียนการสอนภาษาเยอรมันหรือภาษาต่างประเทศในประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดจากความเข้าใจหรือการตีความที่แตกต่างกันในเรื่องการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในพระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษาของไทยในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในด้านการกำหนดเป้าหมายและการปรับปรุงการเรียนการสอน ผู้เขียนวิเคราะห์ให้เห็นแนวทางว่าประเทศไทยควรส่งเสริมการเรียนภาษาต่างประเทศโดยพิจารณาจากปัจจัยใด และเรียกร้องให้มีหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายของรัฐว่าด้วยการสอนภาษาต่างประเทศในประเทศไทยเพื่อกำหนดทิศทางและแผนงานที่แน่นอนและแจ่มชัดเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาเยอรมันหรือภาษาต่างประเทศอื่นๆในประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในประเทศไทยเกิดความสูญเปล่า