Abstract:
การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่มีโรงเรียนจีนแห่งแรกในจังหวัดอยุธยา จนถึงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โรงเรียนจีนขยายตัวอย่างมาก หลังจากนั้นสถานการณ์ทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศทำให้โรงเรียนจีนถูกควบคุมอย่างเข้มงวด เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง โรงเรียนจีนในประเทศไทยก็มีพัฒนาการทั้งในด้านขึ้นและลงตามปัจจัยทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา จน พ.ศ. 2535 เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีประกาศให้ภาษาจีนกลางมีสถานะเท่ากับภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่นๆ ที่สอนอยู่ในโรงเรียนไทยทั่วไป ตั้งแต่นั้นการศึกษาภาษาจีนในประเทศไทยก็ได้รับความนิยมมากขึ้นรองจากภาษาอังกฤษ และมีการเรียนการสอนในทุกระดับตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนในปี พ.ศ. 2518 มีส่วนเสริมและสนับสนุนให้การศึกษาภาษาจีนในประเทศไทยในช่วงสามทศวรรษหลังนี้มีการพัฒนาและการขยายตัวอย่างมากปัจจุบันสังคมไทยมีความต้องการเรียนภาษาจีนเพิ่มขึ้น แต่สถานศึกษาไม่พร้อมและมีไม่เพียงพอ ขาดครูที่มีคุณภาพ ขาดหลักสูตรแกนกลางและสื่อการสอนที่ได้มาตรฐานและสอดคล้องกับบริบททางสังคมไทย ปัญหาดังกล่าวนี้ทำให้เกิดสภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนที่ขาดความพร้อมและไม่มีประสิทธิภาพ การแก้ไขสภาพปัจจุบันและปัญหาการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันแก้ไขในระยะยาว และรัฐต้องมีความจริงใจและดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้