Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายดังนี้คือ 1) เพื่อสำรวจความรู้ความเข้าใจทางจริยธรรม, ปฏิกิริยาจริยธรรม และพฤติกรรมจริยธรรม 2) เพื่อเปรียบเทียบค่าศักยภาพพฤติกรรมตามตัวแปรต้น สถานภาพ เพศ ระดับการศึกษา อาชีพของครอบครัว ขนาดของครอบครัว รายได้ของครอบครัว และภูมิลำเนา กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยนี้มี 3,884 คน ซึ่งคัดเลือกโดยการสุ่มหลายขั้นตอนประกอบด้วย นักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 นักเรียนมัธยม 3 นักเรียนชั้น มศ.5 นิสิตนักศึกษาจากห้าสถาบัน นักธุรกิจ ลูกจ้าง และผู้ใช้แรงงาน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้เครื่องมือ 2 ชนิด คือ แบบสอบถามชีวประวัติและแบบสำรวจที่พัฒนาขึ้นโดยคณะผู้วิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลวิเคราะห์โดยวิเคราะห์หาค่าสถิติพื้นฐานจากคะแนนดิบเป็นรายพฤติกรรมและวิเคราะห์ค่าศักยภาพพฤติกรรมเป็น 3 ตอน ดังนี้ 1) วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว 2) วิเคราะห์เปรียบเทียบพหุคูณด้วยวิธีของเชฟเฟ 3) วิเคราะห์หาค่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถานภาพ เพศ และภูมิลำเนาโดยใช้โปรแกรมแปรปรวน 3 ทาง แบบ 6x2x2 ผลการวิจัยที่สำคัญมีดังต่อไปนี้ 1. ค่าศักยภาพพฤติกรรมที่สูงสุดตามตัวแปรต้น 7 ตัว สอดคล้องกันของพฤติกรรมจริยธรรมแต่ละประเภท มีดังนี้ 1) ตนเอง : การรักษาสุขภาพ 2) สังคม : การปฏิบัติต่อผู้อาวุโสในทางที่ดี 3) เศรษฐกิจ : การบริจาค 4) การเมือง : กลุ่มพฤติกรรมความซื่อสัตย์ทางการเมือง 5) สิ่งแวดล้อม : การสะสมสิ่งมีค่า 2. ค่าศักยภาพพฤติกรรมที่ต่ำสุดตามตัวแปรต้น 7 ตัว สอดคล้องกันได้แก่ 1) ตนเอง : การลุ่มหลงอบายมุข 2) สังคม : การให้ร้ายป้ายสี 3) การประกอบมิจฉาชีพที่ผิดกฎหมาย 4) การเมือง : การแจ้งความเท็จ 5) สิ่งแวดล้อม : การทำลายพันธุ์สัตว์ 3. ผลการวิจัยพบว่าตัวแปรทั้ง 7 ตัว มีผลทำให้เกิดความแตกต่างในค่าศักยภาพพฤติกรรมของพฤติกรรมจริยธรรมทั้ง 5 ประเภท 4. ผลการวิจัยพบว่ามีค่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสถานภาพ เพศ และภูมิลำเนาในบางพฤติกรรมในพฤติกรรมจริยธรรมแต่ละประเภท