Abstract:
เอ็นโดซัลแฟน เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืชในกลุ่มคลอรีนอินทรีย์ที่มีความเป็นพิษ และมีความคงทนสูงในสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดการปนเปื้อนหรือแพร่กระจาย ย่อมก่อให้เกิดภัยต่อมนุษย์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศ งานวิจัยนี้ จึงเป็นการศึกษาถึงการคัดแยกราในธรรมชาติที่มีความสามารถในการย่อยสลายเอ็นโดซัลแฟนให้อยู่ในรูปที่มีความเป็นพิษน้อยลง โดยราที่คัดแยกมาศึกษา ได้แก่ ราในดิน ราและเห็ดที่ขึ้นบนซากพืช รวมทั้งสิ้น 57 ไอโซเลต ซึ่งผลการทดสอบความสามารถในการย่อยสลายขั้นปฐมภูมิด้วยวิธี Thin Layer Chromatography (TLC) พบว่า ภายหลังจากการบ่มเชื้อด้วยอาหารเลี้ยงเชื้อชนิด Czapek’s Dox Medium เป็นเวลา 20 วัน ราไอโซเลต W2 ซึ่งเป็นราที่คัดแยกมาจากดอกเห็ดในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ สามารถย่อยสลายเอ็นโดซัลแฟนให้เป็นเอ็นโดซัลแฟนไดออล ซึ่งเป็นสารเมทาโบไลท์ที่มีความเป็นพิษ และคงทนในสิ่งแวดล้อมน้อยลง จึงได้นำราไอโซเลต W2 มาทำการทดสอบการย่อยสลายขั้นทุติยภูมิต่อไป เป็นเวลา 30 วัน โดยวิธี Gas Chromatography (GC) ซึ่งพบว่า รา W2 สามารถย่อยสลายเอ็นซัลแฟนได้หมดในวันที่ 21 ของการบ่มเชื้อ ในขณะที่ทำให้เกิดการสร้าง เอ็นโดซัลแฟนไดออลหลังจากวันที่ 3 ของการบ่มเชื้อ โดยผลทดสอบการย่อยสลายนั้น มีความสอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตของรา ส่วนการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการย่อยสลาย เอ็นโดซัลแฟนของรา พบว่า ราไอโซเลต W2 มีอัตราการย่อยสลายสูงสุดในสภาวะที่อาหารเลี้ยงเชื้อมีความเข้มข้นของเอ็นโดซัลแฟน 50 มิลลิกรัมต่อลิตร มีกลูโคสเป็นองค์ประกอบ 2 เปอร์เซ็นต์ ที่ค่าความเป็นกรด-ด่างเท่ากับ 7 โดยรา W2 มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายเอ็นโดซัลแฟน 98.88 เปอร์เซ็นต์ จากการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา และเปรียบเทียบลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีนที่ประมวลรหัสของตำแหน่ง Internal Transcribed Spacer (ITS) ของรา W2 พบว่า มีความคล้ายคลึงกับราในสกุล Trametes 93-95 เปอร์เซ็นต์