Abstract:
ศึกษาการเปลี่ยนรูปพอลิพรอพิลีนด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาผสมระหว่างวัสดุที่มีโพรงขนาดเล็กและขนาดกลาง ตัวเร่งปฏิกิริยาผสมสองชนิด ได้แก่ ZSM-5/Al-HMS และ zeolite beta/Al-HMS สามารถเตรียมได้จากวิธีผสมทางกายภาพระหว่าง ZSM-5, ซีโอไลต์ beta และ Al-HMS ซึ่งวัสดุที่มีโพรงขนาดเล็ก ZSM-5 (Si/Al= 40) และซีโอไลต์ beta (Si/Al= 60) จะมีความเป็นกรดสูงและโพรงมีขนาด 0.6 นาโนเมตร ในขณะที่วัสดุที่มีโพรงขนาดกลาง Al-HMS มีความเป็นกรดต่ำ และโพรงมีขนาด 4.2 นาโนเมตร Al-HMS จะถูกปรับปรุงคุณสมบัติด้วยการนำไปบำบัดด้วยแอมโมเนียมคลอไรด์ความเข้มข้น 1 โมลาร์นาน 3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดอะลูมินาที่มีโครงสร้างออกตะฮีดรัลและอยู่นอกโครงสร้างเฟรมเวิร์คซิลิกา ที่อุณหภูมิ 350 องศาเซลเซียส พอลิพรอพิลีนจะเปลี่ยนไปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ดีขึ้นและมีความจำเพาะต่อผลิตภัณฑ์ของเหลวสูงขึ้นเมื่อเพิ่มปริมาณ Al-HMS ในตัวเร่งปฏิกิริยาผสม ผลิตภัณฑ์ของเหลวส่วนเบาที่กลั่นได้จากการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาผสมทั้งสองชนิดจะมีไฮโดรคาร์บอนในช่วง C[subscript 6]-C[subscript 8] เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งสอดคล้องกับองค์ ประกอบของสารมาตรฐานแกโซลีน อย่างไรก็ตามการกระจายตัวของไฮโดรคาร์บอนของของเหลวส่วนเบาที่ได้จากปฏิกิริยาที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาผสม ZSM-5/Al-HMS จะแคบกว่าการกระจายตัวของของเหลวส่วนเบาที่ได้จากการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาผสมซีโอไลต์ beta/Al-HMS เมื่อเพิ่มอุณหภูมิที่ใช้ศึกษาพบว่าพอลิพรอพิลีนจะเปลี่ยนไปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ดีขึ้น โดยอุณหภูมิที่ 380 องศาเซลเซียสอัตราส่วนระหว่างพลาสติกและตัวเร่งปฏิกิริยาผสมเป็น 10 ต่อ 1 เป็นภาวะที่เหมาะสมสำหรับตัวเร่งปฏิกิริยาผสมในการศึกษาครั้งนี้