Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดูแลสุขภาพตนเองและปัจจัยที่มีผลต่อการดูแลสุขภาพตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2542 ในโรงเรียนสังกัดกองการมัธยม กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จังหวัดนครราชสีมา โดยมุ่งประเด็นการดูแลสุขภาพตนเอง 3 ด้าน คือ การปฏิบัติด้านสุขนิสัยประจำวัน การรับประทานอาหาร และการพักผ่อนและการออกกำลังกาย กลุ่มตัวอย่างได้จากการเลือกตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน โดยนักเรียนที่เป็นตัวอย่างมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 562 คน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถามและให้นักเรียนตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง ผลการศึกษาพบว่า โดยทั่วไปนักเรียนมีการดูแลสุขภาพตนเองอยู่ในระดับปานกลางและผลการวิเคราะห์ถดถอยอย่างง่ายที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05 พบว่า ทัศนคติด้านสุขภาพ ระดับการศึกษาของบิดา ระดับการศึกษาของมารดา รายได้ของครอบครัว การสนับสนุนจากผู้ปกครองในด้านสุขภาพ การสนับสนุนจากครูในด้านสุขภาพการสนับสนุนจากบุคลากรสาธารณสุขในด้านสุขภาพ การสนับสนุนจากเพื่อนในด้านสุขภาพ และการได้รับข่าวสารด้านสุขภาพจากสื่อมวลชน มีผลเชิงบวกในระดับต่ำต่อการดูแลสุขภาพตนเองและนักเรียนชายมีการดูแลสุขภาพตนเองดีกว่านักเรียนหญิง ส่วนผลการวิเคราะห์ถดถอยพหุแบบขั้นตอนที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .01 พบว่า การสนับสนุนจากผู้ปกครองในด้านสุขภาพสามารถอธิบายการดูแลสุขภาพตนเองได้มากที่สุด รองลงมาคือทัศนคติด้านสุขภาพและเพศ ส่วนระดับการศึกษาของมารดาและการสนับสนุนจากเพื่อนในด้านสุขภาพรวมกันแล้วอธิบายตัวแปรตามเพิ่มขึ้นได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ตัวแปรอิสระทั้ง 5 ตัวนี้ร่วมอธิบายความแปรปรวนของการดูแลสุขภาพตนเองได้ประมาณร้อยละ 15 สรุปได้ว่า ผลการศึกษาสนับสนุนแนวคิดส่วนหนึ่งของ PRECEDE Framework ของ Green และคณะที่ว่า ปัจจัยนำ ปัจจัยเอื้อและปัจจัยเสริมมีอิทธิพลต่อการดูแลสุขภาพ ด้วยเหตุนี้การกระทำเป็นต้นว่าการส่งเสริมให้ผู้ปกครองใกล้ชิดกับเด็ก คอยดูแลเอาใจใส่บุตรและการปรับทัศนคติด้านสุขภาพของเด็กให้ถูกต้อง น่าจะทำให้เด็กดูแลสุขภาพด้วยตนเองจนเป็นปกติวิสัยและมีสุขภาพดีแบบยั่งยืนได้