Abstract:
การวิจัยเรื่อง การประยุกต์ใช้การวัดผลเชิงดุลยภาพในการบริหารจัดการงานห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้เทคนิคการวัดผลเชิงดุลยภาพในการปฏิบัติงานด้านต่างๆ ในห้องสมุด โดยอาศัยแนวคิดการวัดผลเชิงดุลยภาพของ Robert S. Kaplan และ David P. Norton ด้วยการกำหนดมุมมองในการประเมิน 4 ด้าน ได้แก่ มุมมองด้านลูกค้า มุมมองด้านกระบวนการภายใน มุมมองด้านการเรียนรู้และพัฒนา และมุมมองด้านการเงินและมีการดำเนินงานเป็นขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ การวิเคราะห์ทางกลยุทธ์โดยการประเมินสถานการณ์ภายในและสถานการณ์ภายนอก (การวิเคราะห์ SWOT) การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ของห้องสมุด การทำแผนที่ทางกลยุทธ์ระดับห้องสมุด โดยกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ในแต่ละมุมมอง การวิเคราะห์และกำหนดตัวชี้วัด รวมทั้งการศึกษาผลการปฏิบัติงานในปัจจุบัน เป้าหมายในอนาคต และโครงการหรือกิจกรรมที่จะต้องทำเพื่อแปลงและถ่ายทอดตัวชี้วัดและเป้าหมายไปสู่การปฏิบัติ และการทดลองเทียบเคียง (Benchamarking) กับห้องสมุดในกลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5 คณะ ได้แก่ ห้องสมุดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ห้องสมุดคณะครุศาสตร์ ห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ ห้องสมุดคณะนิติศาสตร์ และห้องสมุดคณะอักษรศาสตร์ ผลจากการศึกษาในครั้งนี้พบว่า 1. ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้เป็นหน่วยงานภารรัฐที่ไม่หวังผลกำไร และเป็นแหล่งบริการสารสนเทศทางรัฐศาสตร์ชั้นนำระดับประเทศ 2. โดยมีพันธกิจ คือการสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ใช้ เป็นผู้นำด้านบริการสารสนเทศทางรัฐศาสตร์ และให้บริการสารสนเทศประเภทต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ บริหารจัดการให้บุคลากรมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน รวมทั้งรับผิดชอบและให้ความสำคัญต่อการบริการสังคม 3. ผลจากการวิเคราะห์ SWOT พบว่ากลยุทธ์ระดับองค์กรของห้องสมุดเป็นกลยุทธ์รุกขยาย ส่วนกลยุทธ์ระดับธุรกิจได้แก่การเสริมสร้างการบริการของห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) อย่างเต็มรูปแบบด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ