Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำให้การเจรจาระหว่างไทยและลาวสามารถบรรลุข้อตกลงอันนำไปสู่การทำความตกลงปักปันเขตทางบกในปี พ.ศ. 2539 การศึกษาพบว่า การกำหนดเส้นเขตและระหว่างไทยและลาวตั้งแต่อดีตเป็นผลมาจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศในยุคจักรวรรดินิยม ทำให้สนธิสัญญาระหว่างไทยและฝรั่งเศสเป็นไปโดยไทยเสียเปรียบหลายประการ กล่าวคือ สนธิสัญญาไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่มีการปักปันเขตแดนตามสนธิสัญญาให้เสร็จสมบูรณ์ ต่อมาลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ. 2518 การเผชิญหน้ากันทางอุดมการณ์ระหว่างประเทศคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของสหภาพโซเวียตและประเทศเสรีประชาธิปไตยภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น ได้ทำให้ลาวตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตและเวียดนาม โดยลาวพึ่งพิงความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจจากสหภาพโซเวียต และถูกครอบงำจากเวียดนามทางด้านการเมืองและการทหาร ในขณะที่ไทยจำเป็นต้องดำเนินนโยบายพึ่งพาสหรัฐในด้านความมั่นคง ทั้งนี้เพราะไทยหวาดเกรงภัยจากประเทศเพื่อนบ้านที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะเวียดนามไทยและลาวจึงไม่อาจที่จะแก้ปัญหาพิพาทระหว่างกันเรื่องพรมแดนได้ในช่วงสงครามเย็น จนกระทั่งสงครามเย็นสิ้นสุดลง สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศภายหลังสงครามเย็นได้เอื้ออำนวยให้การปรับท่าทีระหว่างไทย-ลาวเป็นไปในทางที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้ไทยและลาวสามารถที่จะบรรลุการเจรจาและสามารถจัดตั้งองค์กรความร่วมมือในรูปของคณะกรรมการร่วมทั้งในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลและท้องถิ่นต่อท้องถิ่น และนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ปัญหาเขตแดนจนกระทั่งสามารถที่จะตกลงที่จะทำการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก