Abstract:
การศึกษาบทบาทของสมาคมเอเชียใต้เพื่อความร่วมมือในภูมิภาค (The South Asian Association for Regional Cooperation-SAARC) เกี่ยวกับความร่วมมือของประเทศสมาชิกพบว่า ประเทศเหล่านี้มักมีปัญหาความขัดแย้ง โดยมีสาเหตุทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก และทำให้เกิดความขัดแย้งที่สำคัญได้แก่ ความขัดแย้งภายในรัฐที่เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธ์ ภาษา ศาสนาข้ามพรมแดน การใช้ทรัพยากรน้ำและแม่น้ำร่วมกัน ข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนจากยุคอาณานิคม ปัญหาการสร้างดุลแห่งอำนาจและการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค อันเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน แต่ก็ได้เกิดความพยายามที่จะประสานผลประโยชน์ และร่วมมือกันในขอบเขตที่เป็นไปได้ จากการก่อตั้งสมาคมเอเชียใต้เพื่อความร่วมมือในภูมิภาค (SAARC) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1985 ซึ่งได้ก่อให้เกิดความร่วมมือในด้านต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามความขัดแย้งที่มีมาแต่อดีตยังไม่หมดลง และได้ทำให้ SAARC ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือในภูมิภาคประสบปัญหา จนทำให้ถูกมองว่าไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ SAARC ได้ก่อตั้งขึ้นในช่วงของสงครามเย็น และได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันอันเป็นช่วงหลังสงครามเย็น ปรากฏว่าองค์การได้เข้ามามีบทบาทความร่วมมือ ภายในภูมิภาคทางด้านเศรษฐกิจ การค้า ด้วยการส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาค และให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น จนนำไปสู่การรวมกลุ่มกันเป็นเขตการค้าเสรีเอเชียใต้ (South Asian Free Trade Area-SAFTA) นอกจากนี้ SAARC ยังมีบทบาทที่แสดงถึงความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกภายนอกภูมิภาค ด้วยการมีจุดยืนร่วมกันในการกระทำใดๆ อันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทั้งมวลของสมาชิก และ SAARC ยังแสดงบทบาทในการเป็นตัวแทนของสมาชิก ร่วมมือกับองค์การหรือสถาบันระหว่างประเทศต่างๆ จะเห็นได้ว่าประเทศสมาชิก SAARC ต่างได้ตระหนักในบทบาทของ SAARC ที่เพิ่มขึ้นในฐานะเป็นองค์การระดับภูมิภาค ถึงแม้ว่าจะยังมีความร่วมมือบางด้านที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การกำจัดความยากจน การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการต่อต้านการค้ายาเสพติดและการก่อการร้าย จากการศึกษาสรุปได้ว่าการดำเนินการของ SAARC สามารถดำเนินการต่อไปได้และประสบความสำเร็จ ในขอบเขตความร่วมมือในระดับหนึ่งแล้ว นั่นคือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และความร่วมมือในกรอบของการค้าเสรีภายในภูมิภาคเอเชียใต้ ตลอดจนความร่วมมือในการแสดงจุดยืนร่วมกันในเวทีระหว่างประเทศ และความร่วมมือกับองค์การหรือสถาบันระหว่างประเทศ ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้ทำให้ SAARC ยังดำเนินการอยู่และพัฒนาความร่วมมือขององค์การต่อไปได้