Abstract:
ศึกษาเปรียบเทียบหาวิธีการพยากรณ์ที่เหมาะสม สำหรับการพยากรณ์ข้อมูลปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค และต้องการหาตัวแบบพยากรณ์ที่ให้ค่าพยากรณ์มีความคลาดเคลื่อนต่ำ โดยศึกษาวิธีการพยากรณ์ทั้ง 4 วิธี ได้แก่ 1) วิธีการบอกซ์เจนกินส์ 2) วิธีการปรับให้เรียบแบบเลขชี้กำลัง 3) วิธีการแยกองค์ประกอบ และ 4) วิธีการวิเคราะห์การถดถอย และนำไปเปรียบเทียบกับวิธีการพยากรณ์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในการเปรียบเทียบ จะใช้ค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์ค่าความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์ เป็นเกณฑ์การคัดเลือกตัวแบบพยากรณ์ โดยข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ครั้งนี้เป็นข้อมูลทุติยภูมิ เก็บรวบรวมจากแผนกสถิติการใช้ไฟฟ้า กองเศรษฐกิจพลังไฟฟ้า กฟภ. สำหรับตัวแบบอนุกรมเวลาเป็นข้อมูลรายเดือน ในช่วงปีงบประมาณ 2536-2542 ส่วนตัวแบบการถดถอยเป็นข้อมูลรายปี ในช่วงปีงบประมาณ 2524-2542 ผลการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลที่วิเคราะห์ทั้ง 5 วิธี ได้ว่า วิธีการพยากรณ์โดยวิธีการบอกซ์-เจนกินส์ เหมาะสมกว่าวิธีอื่นๆ ที่นำมาศึกษาเปรียบเทียบ สำหรับข้อมูลปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ซึ่งผบการพยากรณ์ในอนาคต คาดว่า ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้า ในประเภทบ้านอยู่อาศัย กิจการขนาดต่างๆ และกิจการเฉพาะอย่างของทุกภาค ในปี 2543-2545 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเภทสูบน้ำเพื่อการเกษตร และไฟชั่วคราวของทุกภาค ในปี 2543-2545 จะมีแนวโน้มลดลงทุกปี สำหรับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเภทส่วนราชการและองค์กร ที่ไม่แสวงหากำไรของทุกภาคยกเว้นภาคเหนือ ในปี 2543-2545 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี การใช้ตัวแบพยากรณ์ควรจะมีการตรวจสอบความเหมาะสมของตัวแบบนั้น เมื่อมีข้อมูลใหม่เพิ่มขึ้นมา เพื่อปรับปรุงตัวแบบพยากรณ์ให้ทันสมัย