Abstract:
การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงแนวคิดและพัฒนาการของการจัดการป่าไม้ของประเทศไทย ซึ่งนำมาสู่แนวทางการจัดการป่าไม้ในรูปแบบของป่าชุมชน ตลอดจนการวิเคราะห์เพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองที่สร้างอุปสรรคต่อกระบวนการทางนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย และปัญหาทางแนวคิดที่มีความแตกต่างกันระหว่างรัฐกับประชาชนในกระบวนการร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ในการวิจัยได้อาศัยข้อมูลจากเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เอกสารทางราชการ บทความจากสิ่งพิมพ์ต่างๆ ผลงานการวิจัย ตลอดจนบทสัมภาษณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ได้มีการบันทึกไว้ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการอธิบายแนวความคิด โดยการศึกษาได้แบ่งช่วงเวลาการศึกษาออกเป็น 2 ช่วงหลักๆ คือ ช่วงของการก่อตัวทางนโยบายป่าชุมชนและช่วงที่มีการกำหนดร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ซึ่งเป็นการแบ่งตามกรอบทฤษฎีของกระบวนการกำหนดนโยบาย ในการวิเคราะห์ได้อาศัยแนวคิดจากทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับข้อมูลทางวิชาการซึ่งทำให้ได้ผลวิจัย ซึ่งชี้ให้เป็นว่าปัญหาสำคัญที่มีผลต่อกระบวนการกำหนดพระราชบัญญัติป่าชุมชนมี 3 ประการคือ 1. รัฐมีลักษณะของความหวงอำนาจหมายถึงความไม่ไว้วางใจที่จะมอบอำนาจและผลประโยชน์ที่มีเหนือทรัพยากรป่าไม้ให้แก่ประชาชน จึงใช้แนวทางการรวมศูนย์อำนาจการจัดการป่าไม้ไว้ที่รัฐด้วยการออกกฎหายและนโยบายมารองรับอำนาจรัฐในการจัดการทรัพยากร 2. การมีแนวคิดที่แตกต่างกันระหว่างรัฐกับประชาชนในเรื่องความหมายของป่าชุมชนและความแตกต่างของแนวคิดเรื่องสิทธิในการจัดการป่าชุมชน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกันในการร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน โดยเป็นความขัดแย้งในเรื่องการได้รับสิทธิการจัดการป่าชุมชนในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 3. การขาดความต่อเนื่องในกระบวนการกำหนดนโยบาย อันเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย ทำให้การกำหนดนโยบายและการประกาศใช้กฎหมายเกิดความชะงักงันและล่าช้าออกไป ทั้ง 3 ประการ กลายเป็นปัญหาทางการเมืองที่สำคัญ ซึ่งสร้างผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการรกำหนดนโยบายของรัฐ ดังนั้นต้องสนับสนุนการประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าชุมชนที่เน้นการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาและอนุรักษ์ป่าไม้ร่วมกับรัฐ