Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ เพื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างเพศของค่าระยะทางและมุม จากภาพรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้าง ในผู้ป่วยที่มีโครงสร้างใบหน้าคลาสทรีที่มีการเจริญเติบโตของโครงสร้างใบหน้าและขากรรไกรในระยะที่ 1 โดยเปรียบเทียบกับระยะที่ 2 ที่ยังไม่ได้รับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน กลุ่มตัวอย่างมีโครงใบหน้าคลาสทรี (จุด B อยู่หน้าจุด A มากกว่า 3 มม.) จำนวน 30 คน เป็นเพศชาย 15 คน และเพศหญิง 15 คน อายุ 6-15 ปี จากผู้ป่วยของภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำภาพรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้างมาลอกรายละเอียดส่วนต่างๆของกะโหลกศีรษะและใบหน้าลงบนกระดาษอาซิเตท แล้วซ้อนทับภาพในระยะที่ 1 และ 2 และวัดค่าระยะทางและมุมต่างๆที่ต้องการ หาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าความแตกต่างของค่าระยะทางและมุมในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ในทั้งเพศชายและเพศหญิง แล้วเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยดังกล่าวในแต่ละเพศ นอกจากนั้น หาค่าเฉลี่ยต่อปีและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าความแตกต่างของค่าระยะทางและมุมในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ของทั้งสองเพศ เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยต่อปีระหว่างเพศชายและเพศหญิง ผลการวิจัยสรุปได้ว่า มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (p< 0.05) ระหว่างค่าเฉลี่ยของค่าระยะทางและมุมในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ในเพศชาย ได้แก่ ระยะทาง S-N, ระยะทาง S-Ar, มุม SNB, มุม PP/Me, มุม L1/APog, ระยะทาง U6-PP, ระยะทาง L6-MP, ระยะทาง N-PP และระยะทาง PP-Me ในเพศหญิง ได้แก่ ระยะทาง S-Ar, ระยะทาง U6-PP, ระยะทาง L6-MP, ระยะทาง N-PP และระยะทาง PP-Me แต่สำหรับค่าเฉลี่ยต่อปีของค่าระยะทางและมุม ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ(p< 0.05)ระหว่างเพศชายและเพศหญิง ยกเว้นค่าระยะทาง S-Ar