Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการจัดตั้งศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศในปี ค.ศ. 2002 ในการประชุมนานาชาติที่กรุงโรมระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน-17 กรกฎาคม ค.ศ. 1998 มีผู้แทนรัฐบาลของแต่ละประเทศเข้าร่วม 148 ประเทศ รวมทั้งกลุ่มองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลเข้าร่วมเป็นจำนวนมากเพื่อเสนอแนวคิดและพิจารณาสารัตถะของธรรมนูญศาล ปรากฏว่ามีผู้แทนรัฐบาลจาก 120 ประเทศออกเสียงลงมติรับรองอนุสัญญากรุงโรมซึ่งเป็นอนุสัญญาจัดตั้งศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ ส่วนอีก 21 ประเทศงดออกเสียง และอีก 7 ประเทศออกเสียงคัดค้าน ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 หลังจากที่มีผู้แทนรัฐบาลลงสัตยาบันรับรองครบ 60 ประเทศ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ใช้กรอบความคิดด้านสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของมนุษย์ ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศเป็นศาลที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินคดีและลงโทษต่อผู้ละเมิดอาชญากรรมขั้นรุนแรง มีลักษณะถาวรที่ขอบเขตอำนาจของศาลภายในประเทศนั้นๆ ไม่สามารถเอาผิดได้หรืออาจเป็นเพราะไม่มีความสามารถหรือไม่ประสงค์ที่จะเอาผิด จากการศึกษาพบว่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การละเมิดสิทธิมนุษยชนได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายในประเทศซึ่งกระทำโดยผู้นำที่มักจะมีการวางแผนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นระบบและความสำเร็จในการจัดตั้งศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศเป็นผลมาจากการผลักดันร่วมกันของสหประชาชาติ และกลุ่มองค์กรที่มิใช่รัฐบาล