Abstract:
วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้คือ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความตั้งใจย้ายถิ่นออกจากชุมชนแออัดในเขตปริมณฑลและชุมชนแออัดในส่วนภูมิภาค และเพื่อเปรียบเทียบปัจจัยที่มีผลต่อความตั้งใจย้ายถิ่นออกจากชุมชนแออัดในเขตปริมณฑลและชุมชนแออัดในส่วนภูมิภาค ข้อมูลที่ใช้มาจาก "โครงการสำรวจลักษณะทางประชากรและสังคมของชุมชนแออัดในปริมณฑลและภูมิภาค พ.ศ. 2541" ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ หน่วยตัวอย่างที่ศึกษาคือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดในเขตปริมาณฑลที่มีอายุ 15 ปีขึ้น จำนวน 4,713 ราย และผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดในส่วนภูมิภาคที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 9,650 ราย การศึกษาครั้งนี้พบว่า 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ตั้งใจย้ายถิ่นออกจากชุมชนแออัดในเขตปริมณฑล ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์แบบหลายตัวแปรด้วยการถดถอยโลจิสติกแบบขั้นตอน พบว่าตัวแปรอิสระที่มีความสัมพันธ์กับความตั้งใจย้ายถิ่นออกจากชุมชนแออัด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเรียงตามลำดับความสำคัญได้แก่ การมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด การมีชื่อในทะเบียนบ้าน ความถาวรของที่อยู่อาศัย และอาชีพ โดยตัวแปรอิสระทั้ง 5 ตัวสามารถอธิบายการแปรผันของความตั้งใจย้ายถิ่นออกจากชุมชนแออัดได้ร้อยละ 12.9 สำหรับในส่วนภูมิภาคพบว่า 1 ใน 10 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ตั้งใจย้ายถิ่นออกจากชุมชนแออัด ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์แบบหลายตัวแปรด้วยการถดถอยโลจิสติกแบบขั้นตอน พบว่า ตัวแปรอิสระที่มีความสัมพันธ์กับความตั้งใจย้ายถิ่นออกจากชุมชนแออัด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเรียงตามลำดับความสำคัญได้แก่ การมีชื่อในทะเบียนบ้าน ระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ความสะดวกของสาธารณูปโภค การมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ความถาวรของที่อยู่อาศัย จำนวนสมาชิกในครัวเรือน และสถานภาพสมรส โดยตัวแปรอิสระทั้ง 7 ตัวสามารถอธิบายการแปรผันของความตั้งใจย้ายถิ่นออกจากชุมชนแออัดได้ร้อยละ 7.8