Abstract:
บทบาทของสหประชาชาติในการแก้ไขปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา โดยมุ่งศึกษาสาเหตุที่ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงบทบาทของกองกำลังปฏิบัติการรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นสถาบันที่มีบทบาทหลัก ในการธำรงและรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และบทบาทของประชาคมระหว่างประเทศที่เข้าร่วมแก้ไขวิกฤติการณ์ในรวันดาด้วย โดยมีสมมุติฐานคือ สหประชาชาติเป็นปัจจัยหลักในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างชนเผ่าตุ๊ดซีและฮูตูในรวันดาในช่วงปี ค.ศ. 1993-1994 และกรอบความคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ และทฤษฏีอาณานิคมเก่า ผลของการศึกษาพบว่า มูลเหตุที่ทำให้การปฏิบัติการรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติ ไม่ประสบความสำเร็จในเบื้องต้น เนื่องจากอำนาจของการปฏิบัติการมีอยู่อย่างจำกัด คือต้องปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติมาตราที่ 6 ที่ไม่สามารถใช้ความรุนแรงเพื่อการตอบโต้ ยกเว้นเพื่อการป้องกันตัวเอง ในเวลาเดียวกันได้มีการถอนกองกำลังปฏิบัติการรักษาสันติภาพชุดแรกคือ UNAMIR I (United Nations Assistance Military for Rwanda)ออกไปในขณะที่ความรุนแรงในรวันดาเพิ่มสูงขึ้น แต่ในเวลาต่อมาก็ได้ส่งกองกำลัง UNAMIR II เข้ารวันดาเพื่อฟื้นฟู บูรณะประเทศจนเกิดความสงบขึ้น สำหรับบทบาทของประชาคมระหว่างประเทศคือ ไม่แสดงความจริงจังในการเข้าร่วมแก้ไขปัญหา และบางประเทศกลับให้การสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ตามสาเหตุของความรุนแรงดังกล่าวยังสืบเนื่องมาจาก แนวทางการปกครองในอดีตของประเทศเจ้าอาณานิคมของรวันดา คือเยอรมนีและเบลเยียม ที่ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิและความเท่าเทียมของคน 2 ชาติพันธุ์ ทำให้แต่เดิมเผ่าพันธุ์ที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสันติกลับหันมาสู้รบกัน