Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างดัชนีที่ใช้วัดภาวะสุขภาพทางใจของ ผู้สูงอายุไทย และศึกษาปัจจัยทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพทางใจของผู้สูงอายุไทย โดยใช้ข้อมูลจากโครงการวิจัยเรื่องครอบครัวและผู้สูงอายุ : ประชากรเอเชียในอนาคต (The Implications of Asia's Population Future for the Family and the Elderly) ดำเนินการสำรวจโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2540 ตัวอย่างที่ศึกษาคือประชากรอายุ 60 ปี และมากกว่า จำนวน 328 ราย ดัชนีที่ใช้วัดภาวะสุขภาพทางใจในการศึกษาครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ แบบที่รวมคะแนนข้อคำถามที่สะท้อนภาวะสุขภาพทางใจโดยไม่ถ่วงน้ำหนัก (Mental 1) และแบบที่รวมคะแนนโดยถ่วงน้ำหนัก (Mental 2) ตัวแปรที่นำมาใช้ในการสร้างดัชนีมี 13 ตัวแปร ได้แก่ (1) ความบ่อยครั้งของความรู้สึกไม่อยากกินอาหารหรือเบื่ออาหาร (2) ความบ่อยครั้งของการนอนไม่หลับ (3) ความบ่อยครั้งของความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของคนอื่น (4) ความบ่อยครั้งของความรู้สึกกังวลกับสถานะทางการเงิน (5) ความบ่อยครั้งของความรู้สึกเศร้า (6) ความบ่อยครั้งของความรู้สึกกังวลหรือเศร้าที่บุตรไม่มีฐานะความเป็นอยู่ที่ ดีขึ้น (7) ความบ่อยครั้งของความรู้สึกไม่หายเศร้าเหงาหงอยถึงแม้ครอบครัวและเพื่อนจะ ช่วย (8) ปัญหาด้านความกดดันทางการเงิน (9) ปัญหาด้านความเครียดทางอารมณ์หรือทางใจ (10) ปัญหาด้านการเข้ากับสมาชิกในบ้าน (11) ระดับความพอใจในสภาพที่อยู่อาศัย (12) ระดับความพอใจในสถานะทางการเงิน และ (13) ระดับความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนที่มีความสุข ทั้ง 2 ดัชนีได้ผ่านการทดสอบความน่าเชื่อถือ (reliability) และความเที่ยงตรง (validity) ว่าสามารถใช้ในการวัดได้ดีพอๆ กัน การศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะสุขภาพทางใจของผู้สูงอายุที่วัดจากทั้ง 2 ดัชนีใช้วิธีการวิเคราะห์จำแนกพหุ (Multiple Classification Analysis, MCA) จากปัจจัยอิสระทั้งหมด 12 ตัวแปรให้ผลความแตกต่างภาวะสุขภาพทางใจตามกลุ่มของปัจจัยแต่ละตัวไม่แตกต่าง กันมากนัก ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อภาวะสุขภาพทางใจของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและ เป็นไปตามสมมุติฐาน ได้แก่ การมีหนี้สิน ภาวะสุขภาพทางกาย รายได้ และเพศ ตามลำดับ โดยผู้สูงอายุที่ไม่มีหนี้สินจะมีภาวะสุขภาพทางใจดีกว่าผู้ที่มีหนี้สิน ผู้ที่มีภาวะสุขภาพทางกายดีกว่าจะมีภาวะสุขภาพทางใจดีกว่าผู้สูงอายุที่มี ภาวะสุขภาพทางกายแย่กว่าผู้สูงอายุที่มีรายได้มากกว่าจะมีภาวะสุขภาพทางใจดี กว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า ผู้สูงอายุเพศชายมีภาวะสุขภาพทางใจดีกว่าผู้สูงอายุเพศหญิง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติได้แก่ สถานภาพสมรส การเป็นหัวหน้าครอบครัวและแบบของการอยู่อาศัย ส่วนปัจจัยที่ไม่มีความสัมพันธ์ตามสมมติฐานที่ตั้งไว้และไม่มีนัยสำคัญทางสถิติได้แก่ อายุ สถานภาพการทำงาน จำนวนสมาชิกในครัวเรือน ความบ่อยครั้งที่ได้รับการติดต่อจากบุตร และเขตที่อยู่อาศัย ด้านความสามารถในการอธิบายความผันแปรของคะแนนภาวะสุขภาพทางใจของผู้สูงอายุ พบว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจทุกตัวรวมกันสามารถอธิบายความผันแปรได้ีดีที่สุด คืออยู่ระหว่างร้อยละ 15-ร้อยละ 17 ในขณะที่เมื่อปัจจัยอิสระทุกตัวรวมกันสามารถอธิบายความผันแปรของคะแนนภาวะสุขภาพทางใจได้ีร้อยละ 27