Abstract:
พัฒนาตัวบ่งชี้คุณภาพชีวิตของคนไทยในชนบทโดยวิเคราะห์ข้อมูลระยะเวลา 8 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2542 จากผลการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต ได้พิจารณาตัวบ่งชี้ 3 ด้าน 41 ตัวชี้วัด มาวิเคราะห์โดยวิธีวิเคราะห์ปัจจัย และสกัดปัจจัยด้วยวิธีวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก หมุนแกนแบบมุมฉากวิธีแวริแมกซ์ และคัดเลือกตัวชี้วัดคุณภาพชีวิต โดยตรวจสอบความสอดคล้องกันของตัวชี้วัดในตัวบ่งชี้แต่ละด้าน จากผลการวิเคราะห์ได้ข้อสรุปว่า ตัวบ่งชี้คุณภาพชีวิตของคนไทยในชนบทประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ แบ่งออกเป็น 14 ตัวบ่งชี้ จำนวน 30 ตัวชี้วัด ดังนี้ 1. องค์ประกอบด้านปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ประกอบด้วย ตัวบ่งชี้ 5 ด้านคือ ความเพียงพอของอาหาร ประกอบด้วย 3 ตัวชี้วัด คือ เด็กแรกเกิดมีน้ำหนัก 3,000 กรัมขึ้นไป เด็ก 0-5 ปีไม่ขาดสารอาหาร เด็ก 6-14 ปีได้รับสารอาหารครบ ความสะอาดของอาหาร ประกอบด้วย 2 ตัวชี้วัด คือ ครัวเรือนไม่กินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ครัวเรือนมีน้ำสะอาดดื่มเพียงพอ บ้านเรือนถูกสุขลักษณะ ประกอบด้วย 1 ตัวชี้วัด คือ ครัวเรือนมีและใช้ส้วมถูกหลักสุขาภิบาล การบริโภคเกลือไอโอดีน ประกอบด้วย 1 ตัวชี้วัด คือ ครัวเรือนมีการบริโภคเกลือไอโอดีน ภูมิคุ้มกันโรคในเด็ก ประกอบด้วย 1 ตัวชี้วัด คือ เด็กแรกเกิดได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 4 เดือนแรก 2. องค์ประกอบด้านจิตใจและอารมณ์ ประกอบด้วย ตัวบ่งชี้ 3 ด้าน คือ จริยธรรม ประกอบด้วย 3 ตัวชี้วัด คือ ครัวเรือนปฏิบัติศาสนกิจสม่ำเสมอ คนในครัวเรือนไม่ติดสุรา ครัวเรือนเข้าร่วมกิจกรรมตามประเพณี ความสุขในครอบครัวและสิ่งเสพติด ประกอบด้วย 2 ตัวชี้วัด คือ คนในครัวเรือนไม่ติดบุหรี่ ครอบครัวมีความอบอุ่น ความกตัญญู ประกอบด้วย 1 ตัวชี้วัด คือคนสูงอายุได้รับการดูแล 3. องค์ประกอบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ตัวบ่งชี้ 6 ด้าน คือ สาธารณสุขและการศึกษาเบื้องต้น ประกอบด้วย 4 ตัวชี้วัด คือ หญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลก่อนคลอด หญิงตั้งครรภ์ได้รับบริการทำคลอดและดูแลหลังคลอด เด็กประถมศึกษาได้เข้าเรียนภาคบังคับ คนในครัวเรือนอายุ 14-50 ปี อ่านเขียนได้ เศรษฐกิจและการศึกษาต่อ ประกอบด้วย 3 ตัวชี้วัด คือ เด็กจบภาคบังคับได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา เด็กไม่ได้เรียนต่อได้รับการฝึกอาชีพ ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อปี การอนุรักษ์ ประกอบด้วย 3 ตัวชี้วัด คือ ครัวเรือนร่วมรักษาสาธารณสมบัติ และกิจกรรมการพัฒนา ครัวเรือนได้ร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ครัวเรือนได้ร่วมป้องกันสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ประกอบด้วย 2 ตัวชี้วัด คือ ครัวเรือนปลอดภัยจากอุบัติเหตุ, ครัวเรือนปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การวางแผนครอบครัว ประกอบด้วย 1 ตัวชี้วัด คือ คู่สมรสใช้บริการคุมกำเนิด ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ประกอบด้วย 3 ตัวชี้วัด คือ ครัวเรือนมีความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ , ครัวเรือนรู้จักป้องกันโรคเอดส์ , ครัวเรือนกินอาหารที่มีฉลาก อย.