Abstract:
ศึกษาความต้องการที่อยู่อาศัยของนิสิตมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เฉพาะคณะเกษตร คณะประมง คณะวนศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร โดยการสำรวจสภาพปัจจุบัน การค้นคว้าข้อมูล การสอบถามความพึงพอใจและความต้องการที่อยู่อาศัยในด้านกายภาพ สังคมและเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์สำหรับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับนิสิตต่อไป จากการศึกษาพบว่าปัจจุบันนิสิตในคณะที่ศึกษาเกี่ยวกับการเกษตร มีจำนวน 2,718 คน คิดเป็น 20.9% ของนิสิตทั้งมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด และฐานะยากจน คิดเป็น 66.5% และ 47.8% ตามลำดับ นิสิตกลุ่มนี้ 69.8% พักอาศัยอยู่หอพักในและนอกมหาวิทยาลัย ส่วนที่เหลือพักอาศัยอยู่ที่อื่นๆ ในปัจจุบัน หอพักของมหาวิทยาลัยแต่ละห้องมีนิสิตพักอาศัย 3-5 คน มีขนาดพื้นที่ระหว่าง 15-30 ตร.ม. นิสิตเสียค่าใช้จ่าย 1,500 บาทต่อภาคการศึกษา หอพักส่วนใหญ่เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น สภาพเก่าแก่ทรุดโทรม แต่มีบางอาคารเป็นคอนกรีตสูง 5 ชั้น โดยทั่วไปสภาพอาคารทรุดโทรมขาดการบำรุงรักษา สภาพห้องพักคับแคบ สภาพแวดล้อมภายนอกค่อนข้างดี แต่มีปัญหาเรื่องร้านค้าและบริการไม่เพียงพอ อีกทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับกิจกรรมการรับน้องใหม่ของหอพัก สำหรับหอพักเอกชนนอกมหาวิทยาลัย จากการสำรวจพบว่าพักอาศัยประมาณ 2-3 คน ห้องพักมีขนาด 25 ตร.ม. ขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นอาคารคอนกรีตขนาดใหญ่ สูง 4-8 ชั้น มี 80-200 ห้อง เป็นอาคารใหม่เพิ่งแล้วเสร็จประมาณ 10 ปี ราคาค่าเช่าเฉลี่ย 2,500 บาทต่อเดือนขึ้นไป สภาพแวดล้อมภายในห้องค่อนข้างดีขึ้นอยู่กับค่าเช่า ส่วนสภาพแวดล้อมภายนอกไม่ดี เพราะส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งชุมชนที่มีร้านค้าและบริการต่างๆ จำนวนมาก ในด้านความพอใจ นิสิตในหอพักมหาวิทยาลัยมีความพอใจในเรื่องราคา และความปลอดภัยมากที่สุด แต่ไม่พอใจในกฎระเบียบและความเป็นส่วนตัว ส่วนนิสิตที่พักหอพักนอกมหาวิทยาลัยมีความพอใจในเรื่องห้องพัก และร้านค้าบริการมากที่สุด แต่ไม่พอใจในเรื่องราคา และการระบายอากาศมากที่สุด ในด้านความต้องการ นิสิตมีต้องการที่พักอาศัยขนาด 18-27 ตร.ม. พักร่วมห้องเพียง 2 คน ต้องการให้มีห้องน้ำและโต๊ะทำงานภายในห้อง สำหรับสภาพแวดล้อมนั้นต้องการให้มีความปลอดภัยและแสงสว่าง ด้านบริการต้องการให้มีบันไดหนีไฟ ยามรักษาความปลอดภัยและร้านค้า ด้านกฎระเบียบนิสิตต้องการอิสระในการเข้าออก โดยมีค่าเช่าประมาณ 1,500-2,500 บาทต่อเดือนและให้ความสำคัญกับความสะดวกในการเดินทาง สภาพแวดล้อมและราคาที่พัก ตามลำดับ นิสิตมีความต้องการที่อยู่อาศัยเนื่องจากสาเหตุ 1. การเรียนการสอนของคณะ 2. ภูมิลำเนาของนิสิต 3. ฐานะทางเศรษฐกิจของนิสิต และ 4. ความสะดวกในการเดินทาง ปัจจุบันมีที่พักอาศัยรองรับนิสิตได้ 9,312 คน และมีนิสิตร้อยละ 7.76 ต้องการที่พักอาศัยในหรือใกล้มหาวิทยาลัย ปัจจัยในการตัดสินใจเลือกทีพักอาศัยระหว่างหอพักในและนอกมหาวิทยาลัยได้แก่ ราคาที่พัก กฏ ระเบียบ และกิจกรรมการรับน้องหอพัก สำหรับข้อเสนอแนะนั้น มหาวิทยาลัยควรพิจารณาสิทธิในการเข้าพักให้เข้มงวดมากขึ้น และให้นิสิตในคณะดังกล่าวให้มีสิทธิเข้าพักในหอพักมหาวิทยาลัยมากขึ้น ทั้งนี้ควรปรับปรุงและบำรุงรักษาหอพักให้มีสภาพดีขึ้น เพิ่มห้องพักและลดจำนวนคนพักในห้องน้อยลง และดูแลกิจกรรมการรับน้องหอพักอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ส่วนหอพักนอกมหาวิทยาลัย เจ้าของโครงการควรปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายนอกให้ดีขึ้น โดยอาจร่วมมือกับชุมชนและมหาวิทยาลัยในพัฒนา เพิ่มกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับนิสิตให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของนิสิตและนักศึกษามหาวิทยาลัย